คัดเค้าดง

Oxyceros bispinosus (Griff.) Tirveng.

ชื่ออื่น ๆ
ขบเขี้ยว, สลักเขี้ยว(ใต้); พญาท้าวเอว (ตะวันตกเฉียงใต้)
ไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ มีหนามแหลมตามข้อลำต้นและข้อกิ่งเป็นคู่ ๆ ตอนปลายโค้งงอลงเข้าหา ลำต้นและถึง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากรูปใบหอกถึงรูปไข่ หูใบระหว่างก้านใบรูปตามเหลี่ยมปลายแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวอมเขียว กลิ่นหอม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม สีเขียวแก่ เมล็ด ๖-๘ เมล็ด

คัดเค้าคงเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ มีหนามแหลมตามข้อลำต้นและข้อกิ่งเป็นคู่ ตอนปลายโค้งงอลงเข้าหาลำต้น และกิ่ง ยาวได้ถึง ๒ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกถึงรูปไข่ กว้าง ๕-๗.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบแคบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา เส้นกลางใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑-๑.๖ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ร่วงเมื่อแก่

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ช่อตั้งก้านช่อดอกยาว ๑-๑.๘ ซม. มีกาบหุ้มและมีขนสั้นดอกสีขาวอมเขียว กลิ่นหอม ก้านดอกยาว ๓-๖ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกกว้าง ๕ มม. ยาว ๕-๗ มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับหรือรูปช้อน แต่ละแฉกกว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๕-๘ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๓-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียอวบ ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายกระบอง มี ๒ พู

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๓ ซม. สีเขียวแก่ มีรอยแผลเป็นของกลีบเลี้ยงที่ปลาย มีเมล็ด ๖-๘ เมล็ด

 คัดเค้าดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบแล้งและป่าผสมผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คัดเค้าดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Oxyceros bispinosus (Griff.) Tirveng.
ชื่อสกุล
Oxyceros
คำระบุชนิด
bispinosus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William
- Tirvengadum, Deva D.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William (1810-1845)
- Tirvengadum, Deva D. (fl. 1986)
ชื่ออื่น ๆ
ขบเขี้ยว, สลักเขี้ยว(ใต้); พญาท้าวเอว (ตะวันตกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ