ขี้กาดิน

Trichosanthes wawrae Cogn.

ไม้เถา มีมือเกาะออกตามซอกใบ ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับ มีใบย่อย ๓ ใบ ใบย่อยใบกลางรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ ใบย่อยด้านข้างรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น กลีบดอกสีขาวช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกเพศเมียออกเดี่ยวตามซอกใบ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ สุกสีแดงอมส้ม มีริ้วเป็นทางยาวสีเหลืองอ่อน เมล็ดแบน ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน สีเทาเข้ม มีจำนวนมาก

ขี้กาดินเป็นไม้เถา ยาว ๓-๘ ม. เกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปราย มักมีผลึกหินปูนตามผิว และมีมือเกาะออกตามซอกใบ ปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับ มีใบย่อย ๓ ใบ ใบย่อยใบกลางรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๔.๕-๙ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มยาวใบย่อยด้านข้างรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ขนาดใกล้เคียงกับใบกลาง ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟันห่าง ๆ มักมีต่อมเล็ก ๆ กระจายทั่วไป ก้านใบยาว ๒-๕ ซม. ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๕ มม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะออกตามซอกใบ ยาว ๙-๒๐ ซม. มีดอก ๑๐ ดอก พบน้อยที่มี ๒๐ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๒-๖ ซม. ใบประดับรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๐.๗-๑.๓ ซม. มีต่อม ขอบใบประดับหยักซี่ฟันลึกหรือเป็นชายครุยดอกเพศผู้มีก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. ฐานดอกรูปกรวยแคบ ยาว ๒-๔ ซม. ปลายกว้างประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๕-๗ มม. โคนกลีบเลี้ยงกว้างประมาณ ๒ มม. ขอบเรียบ กลีบดอกสีขาวโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขอบเป็นชายครุย เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูชิดกัน รูปแถบขดไปมาคล้ายตัวหนอนยาวประมาณ ๑ ซม. ดอกเพศเมียออกเดี่ยวตามซอกใบกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ มีก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกลึก ๓ แฉก พบน้อยที่มี ๕ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่สุกสีแดงอมส้ม มีริ้วเป็นทางยาวสีเหลืองอ่อน กว้างประมาณ ๕ ซม. ยาวประมาณ ๗ ซม. ผนังผลชั้นนอกเมื่อแก่เต็มที่คล้ายแผ่นหนัง เนื้อผลสีเขียวเข้ม รสขม ก้านผลยาว ๐.๕-๒ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. เมล็ดแบนทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. หนาประมาณ ๒ มม. โคนตัด ปลายมนหรือค่อนข้างแหลม ขอบกว้าง เรียบสีเทาเข้ม มีจำนวนมาก

 ขี้กาดินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามที่โล่ง ชายป่าที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐ - ๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา ชวา และเกาะบอร์เนียว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้กาดิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Trichosanthes wawrae Cogn.
ชื่อสกุล
Trichosanthes
คำระบุชนิด
wawrae
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Cogniaux, Célestin Alfred
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1841-1916)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.กาญจนา พฤษพันธ์