ตับหลามชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๒ ม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๗ ซม. พบน้อยที่กว้าง ๒.๕ ซม. ยาว ๘-๑๓ ซม. พบน้อยที่ยาว ๕.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ พบบ้างที่ขอบหยักมนห่าง ๆ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น เห็นชัดหรืออาจเห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๔-๑ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบหรือเหนือซอกใบเล็กน้อย แต่ละช่อมี ๒-๓ ดอก หรืออาจมีเพียง ๑ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๑-๓ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๔ มม. ดอกสีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ มม. กลีบดอก ๔ กลีบ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. จานฐานดอกค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม แบน ฉ่ำน้ำ เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ตั้งตรง ก้านชูอับเรณูเป็นอิสระ ส่วนโคนของก้านชูอับเรณูฝังอยู่ในจานฐานดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ฝังอยู่ในจานฐานดอก รูปพีระมิดเป็นมุมมน ๆ ๔ มุม มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น กว้าง ๑-๒ ซม. ยาวประมาณ ๑ ซม. เมื่อแตกส่วนอื่นหลุดร่วงไปเหลือแต่แกนกลางผล เมล็ดรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. มีได้ถึง ๔ เมล็ด ไม่มีปีก มีเยื่อหุ้ม ยาวประมาณ ๗ มม. สันขั้วเมล็ดแยกเป็น ๓-๔ แถบ
ตับหลามชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบตามป่าดิบใกล้ลำธาร ป่าเบญจพรรณ พบบ้างตามเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียและเมียนมา.