ตะบูนเป็นไม้ต้น สูง ๘-๑๕ ม. เส้นรอบวง ๐.๕-๑.๒ ม. โคนแผ่เป็นพูพอนค่อนข้างบาง ๓-๔ พอน ช่วยพยุงลำต้นและมีรากพูพอนเป็นครีบคดไปมาเหนือผิวดินแผ่เป็นวงกว้างรอบโคนต้น เปลือกค่อนข้างบาง สีน้ำตาลแตกเป็นสะเก็ดห้อยลง เปลือกในสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีชมพูเนื้อไม้สีขาวถึงสีน้ำตาลอ่อน
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ยาว ๑๐-๒๐ ซม. มีใบย่อย ๒-๖ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับหรือรูปรี กว้าง ๔-๔.๕ ซม. ยาว ๙-๑๓ ซม. ปลายใบผาย
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบคล้ายช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๑๕ ซม. มักมีแขนงช่อย่อยหลายแขนง ใบประดับและใบประดับย่อยคล้ายกาบ รูปไข่ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๓-๙ มม. และขยายใหญ่ใกล้โคนกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงยาว ๑-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก มีขนประปรายทางด้านนอก ด้านในเกลี้ยงกลีบดอกสีขาวแกมสีเหลืองอ่อนถึงสีชมพูเรื่อ มี ๔ กลีบ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. เกลี้ยงหรืออาจมีขนประปรายทางด้านนอก ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๘ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้างและยาว ๒-๓.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๘ แฉก อับเรณูติดแนบบริเวณผนังปากหลอดด้านในตรงกับแฉกปากหลอด ดอกเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่หรือรูปทรงคนโท ค่อนข้างป้อม เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๓-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียแผ่โค้งคล้ายรูปครึ่งวงกลม
ผลแบบผลแห้งแตก เปลือกหนาและแข็งเหมือนไม้ รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น กว้าง ๘-๒๐ ซม. ยาวหรือสูง ๕-๗ ซม. เมล็ดรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ค่อนข้างโค้งไปทางด้านหนึ่งและเว้าทางด้านตรงข้าม น้ำหนักเบาลอยน้ำได้
ตะบูนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามชายฝั่งทะเลที่ดินเป็นดินปูน ทรายและโขดหิน ที่น้ำทะเลท่วมถึง ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบตามชายฝั่งทะเลของทวีปเอเชียถึงแอฟริกาตะวันออก
ประโยชน์ ช่วยยึดหน้าดินตามชายฝั่ง และเป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเล.