ขมหิน-ผัก ๑

Boerhavia diffusa L.

ชื่ออื่น ๆ
ตังไก่น้อย (นครราชสีมา); ผักขมฟ้า (สุโขทัย); ผักโขมหิน (กลาง); ผักเบี้ยหิน (เหนือ); ผักปั๋งดิน (เชีย
ไม้ล้มลุก ทอดไปตามดิน ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบรวมสีขาวอมชมพู แดงหรือม่วง ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปกระบอง ปลายทู่ มีต่อมเมือกเหนียว

ผักขมหินชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุก สูง ๐.๔-๒ ม. ลำต้นแตกกิ่งมาก ทอดไปตามพื้นดิน ส่วนปลายกิ่งชูขึ้น ปลายกิ่งหรือต้นอ่อนมีขนสีขาวประปราย กิ่งหรือลำต้นแก่เกลี้ยง โคนต้นและรากพองและแข็ง กิ่งก้าน ลำต้น และใบมักเปลี่ยนเป็นสีเขียวแกมแดงเมื่อแก่หรือเมื่อถูกแสงแดงจัด

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๑-๕ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงทู่ โคนป้าน ตัดเรียบ หรือเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย มีขนสีขาวตามขอบใบอ่อน บางครั้งขอบใบเป็นสีแดง แผ่นใบด้านล่างสีเขียวอมเทาหรือขาว มีขนประปรายตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ด้านบนสีเขียว เรียบ เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ คู่ ก้านใบยาว ๐.๗-๔.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๕-๒๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๕ ซม. แตกกิ่ง ๓-๔ ชั้น กิ่งปลายสุดมี ๒-๑๒ ดอก ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. มีใบประดับย่อยขนาดเล็ก ๑-๓ ใบรองรับ กลีบรวมขนาดเล็ก ยาว ๒.๕-๓ มม. ติดกันที่โคนและมีรอยคอดตรงกึ่งกลาง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก สีขาวอมชมพู แดง หรือม่วง แต่ละแฉกปลายตัดและเป็นหยักตื้น ๆ มีขนตรงรอยหยักและด้านนอกของแฉก เกสรเพศผู้ขนาดเล็ก ๑-๓ อัน ก้านชูอับเรณูสีม่วง อับเรณูสีม่วงเข้ม ยื่นพ้นกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีหรือรูปไข่กว้าง มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว สีม่วงอมชมพู ชูปลายเกสรซึ่งเป็นตุ่มกลมสีม่วงขึ้นสูงระดับเดียวกับอับเรณู

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปกระบอง ปลายทู่ มีสันสลับกับร่องตื้นตามแนวยาว ๕ สัน บนสันมีต่อมเมือกใสเหนียว

 ผักขมหินชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค เป็นวัชพืชขึ้นอยู่ทั่วไป ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงกว่า ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกตลอดปี ในต่างประเทศพบในเขตร้อนและกึ่งร้อนของโลก ในอินเดียใช้เป็นยาลดไข้ ขับปัสสาวะ และขับเสมหะ ยาระบาย ยานอนหลับ และยาแก้ปวดท้อง (Kurup, Ramadas and Joshi, 1979) สารที่สกัดได้จากผักขมหินมีหลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ กรด boerhavic แอลคาลอยด์ punarnavine และ potassium nitrate (Quisumbing, 1978) สารสกัดจากรากมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสหลายชนิด ได้แก่ Gomphrena mosaic virus, Tobacco mosaic virus, Sunhemp rosette virus และ Tobacco ringspot virus (Grainge and Ahmed, 1988)



ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขมหิน-ผัก ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Boerhavia diffusa L.
ชื่อสกุล
Boerhavia
คำระบุชนิด
diffusa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ตังไก่น้อย (นครราชสีมา); ผักขมฟ้า (สุโขทัย); ผักโขมหิน (กลาง); ผักเบี้ยหิน (เหนือ); ผักปั๋งดิน (เชีย
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา