กระโดงแดง ๑

Bhesa robusta (Roxb.) Ding Hou

ชื่ออื่น ๆ
กระบกคาย (ศรีสะเกษ), ขมัน (สุรินทร์), ละโมก (ตราด), ลายอกายู (มลายู-ยะลา)
ไม้ต้น มีพอนที่โคน กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีหูใบรูปกรวยที่ปลายกิ่งใบเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนานปลายก้านใบบวม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ดอกสีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลแห้งแตก รูปกรวยปลายโค้ง มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีเหลือง

กระโดงแดงชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๒๕ ม. มีพอนที่โคนต้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลมยาว พุ่มใบแน่น เปลือกสีน้ำตาลขรุขระ แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว กิ่งอ่อนแบนเป็นเหลี่ยม มีหูใบรูปกรวยแหลมที่ปลายกิ่ง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือแหลม ขอบเรียบแต่ย่นเป็นคลื่นห่าง ๆ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเป็นมันเลื่อม ด้านล่างสีจางกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๐ เส้น ขนานกันเว้นระยะห่างค่อนข้างสม่ำเสมอระหว่างเส้นแขนงใบมีเส้นขั้นบันได ก้านใบยาว ๒.๕-๕ ซม. ปลายก้านใบที่ต่อกับโคนแผ่นใบบวมและโค้งเล็กน้อย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจะ ยาว ๕-๑๔ ซม. ดอกเล็กมาก สีเหลืองอมเขียวกลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดอยู่รอบนอกจานฐานดอกที่ล้อม รอบฐานรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกรวยแหลม กว้าง ๐.๘-๑.๒ ซม. ยาว ๒.๗-๓.๔ ซม. ปลายเป็นจะงอยโค้งเล็กน้อย ผลแก่สีเหลืองและแตกตามรอยประสานด้านข้าง มีเมล็ดแข็ง ๑ เมล็ด รูปรี กว้างประมาณ ๙ มม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. มีเยื่อสีเหลืองหุ้มตลอดหรือเพียงบางส่วน

 กระโดงแดงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก แต่ทางภาคเหนือขึ้นได้ในป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย จนถึงเกาะสุมาตราและบอร์เนียว

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระโดงแดง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bhesa robusta (Roxb.) Ding Hou
ชื่อสกุล
Bhesa
คำระบุชนิด
robusta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Ding Hou
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Ding Hou (1921- )
ชื่ออื่น ๆ
กระบกคาย (ศรีสะเกษ), ขมัน (สุรินทร์), ละโมก (ตราด), ลายอกายู (มลายู-ยะลา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข