เข็มแดง

Ascocentrum curvifolium (Lindl.) Schltr.

ชื่ออื่น ๆ
เขาแกะ, เขาควาย, เอื้องเข็มแดง, เอื้องม้าก่ำ (เหนือ)
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน แผ่นใบค่อนข้างหนา ปลายใบเป็นหนามแหลม ๒-๓ อัน ยาวไม่เท่ากัน ด้านบนเป็นร่อง ช่อดอกแบบช่อกระจะ ดอกสีส้มอมแดง ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน มีเมล็ดมาก

เข็มแดงเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ ๑.๑ ซม. เมื่อเจริญเต็มที่สูง ๒๐ ซม. ขึ้นไป ต้นมักโค้งลงเนื่องจากทรงตัวไม่ได้และเริ่มมีการแตกหน่อในส่วนล่างของลำต้น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มีประมาณ ๕ คู่ ข้อระหว่างใบห่างกันประมาณ ๒ ซม. ใบหนา แข็ง รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒๗ ซม. เป็นร่องยาวตลอดใบ ปลายใบหยักเป็นหนามแหลม ๒-๓ อัน ยาวไม่เท่ากันขอบมีจุดสีม่วง

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ รูปทรงกระบอก มี ๑-๓ ช่อ ตั้งตรง ยาวประมาณ ๑๗ ซม. มีดอกช่อละประมาณ ๓๓ ดอก กว้างและยาวประมาณ ๒ ซม. ดอกสีส้มอมเหลือง ส้มเข้ม หรือส้มอมแดง กลีบแผ่ออก กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนกว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลางกลีบสีเข้มกว่าขอบ ปลายมน กลีบคู่ข้างขนาดใหญ่กว่ากลีบบน ปลายแหลม กลางกลีบสีอ่อน กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบคู่ข้างกว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. กลางกลีบสีอ่อน ปลายมน แผ่นกลีบปากกว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ต่อกับฐานเส้าเกสรเป็นเดือยยาว โคนแผ่นกลีบปากมีปุ่มแหลมรูปกรวย ๒ ปุ่ม ยื่นชิดกัน ส่วนหูปากที่อยู่ ๒ ข้างยกตั้งขึ้นและปลายมน เดือยยาวประมาณ ๕-๖ มม. เส้าเกสรกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีจะงอยเล็ก สั้นมาก กลุ่มเรณูกลม มี ๒ กลุ่ม ติดบนเส้าเกสร ก้านกลุ่มเรณูสั้น รูปแถบ บนสุดของเส้าเกสรมีฝาปิดสีม่วง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุลมาก ก้านดอกและรังไข่ยาวประมาณ ๑.๘ ซม.

 ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปกระบอง กว้าง ๔-๖ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ก้านผลยาวประมาณ ๑.๕ ซม.

 เข็มแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย (รัฐอัสสัม) ศรีลังกา พม่า และลาว.


ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ascocentrum curvifolium (Lindl.) Schltr.
ชื่อสกุล
Ascocentrum
คำระบุชนิด
curvifolium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John
- Schlechter, Friedrich Richard Rudolf
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John (1799-1865)
- Schlechter, Friedrich Richard Rudolf (1872-1925)
ชื่ออื่น ๆ
เขาแกะ, เขาควาย, เอื้องเข็มแดง, เอื้องม้าก่ำ (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์