ตลับเกลี้ยงเป็นไม้ล้มลุกหลายปีหรือกึ่งไม้พุ่มสูงได้ถึง ๑ ม. ลำต้นรูปทรงกระบอก ตรง ตามลำต้นมีขนต่อมเหนียวจำนวนมาก และมีขนรูปดาวเล็ก ๆ และขนแข็งทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างหรือรูปเกือบกลม กว้าง ๒.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยถึงหยักมน มีขนรูปดาวเล็ก ๆ และขนต่อมเหนียวทั้ง ๒ ด้าน เส้นโคนใบ ๕-๙ เส้น เส้นแขนงใบจากเส้นกลางใบเหนือขึ้นไปข้างละ ๑-๒ เส้น ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. มีขนต่อมเหนียวจำนวนมาก หูใบรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ ๕ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือใกล้ปลายยอด มักพบบนกิ่งข้างสั้น ๆ ที่อยู่ชิดกัน ก้านดอกเรียวเล็ก ยาว ๒-๖ มม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. มีข้อต่อบริเวณตรงกลางก้านหรือเหนือกลางก้านขึ้นไป ก้านดอกมีขนต่อมเหนียวจำนวนมาก ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังกว้าง กว้าง ๔.๕-๕ มม. ยาว ๖-๘ มม. มีขนรูปดาวเล็ก ๆ และขนต่อมเหนียวกระจายทั่วไป ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาว ๒.๕-๕ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายเว้าตื้นหรือเว้าบุ๋ม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๓-๔ มม. มีขนนุ่มกระจายทั่วไป อับเรณูสีเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม ยาว ๑-๒ มม. สีเขียวอมเหลือง เกลี้ยง มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๕ ก้าน แต่ละก้านมียอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม
ผลแบบผลแห้งแยก รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทน ประกอบด้วยเสี้ยวผล ๕ เสี้ยว รูปพีระมิด ปลายมนกลม ผิวเรียบ ปลายมีขนสั้น ไม่มีรยางค์แข็ง รูปทรงพีระมิด ที่ปลายแต่ละเสี้ยวผลมีติ่งแหลม ๒ ติ่ง มีขน เมล็ดทรงรูปไข่ ค่อนข้างคล้ายรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง สีดำอมน้ำตาล มี ๕ เมล็ด
ตลับเกลี้ยงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามชายป่า ป่าดิบแล้ง ริมลำธาร หรือที่รกร้าง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๒๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปีในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์.