ฉัตรสามชั้นเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๘๐ ซม. ลำต้นเป็นสันสี่เหลี่ยม ตามเหลี่ยมแผ่เป็นครีบ มีขน
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบใกล้ยอดเรียงถี่ชิดกันคล้ายเป็นวงรอบข้อ หรือในบางซอกใบมีคู่ใบของกิ่งอ่อนคล้ายเป็นกระจุก แผ่นใบรูปรีรูปไข่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๘ มม. ยาว ๐.๕-๒ ซม. อาจพบยาวได้ถึง ๔ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนสอบ ขอบเรียบและมีขนประปราย แผ่นใบบาง เกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเข้มด้านล่างสีจางกว่า เส้นกลางใบด้านบนอาจมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแหก้านใบสั้นมาก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. หรือไร้ก้าน หูใบระหว่างก้านใบโคนเชื่อมติดกับโคนก้านใบคล้ายถ้วย กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวได้ถึง ๓ มม. ปลายแยกเป็นเส้น ๕-๗ เส้น เรียว ยาว ๑-๓ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก รูปค่อนข้างกลม ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ใบประดับและใบประดับย่อยเรียวเป็นเส้น เล็กมาก ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๐.๕-๑.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก รูปเคียว ยาว ๐.๙-๑.๕ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนหยาบแข็งดอกเล็กมาก กลีบดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปคล้ายคนโท ยาว ๐.๔-๐.๖ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปไข่หรือรูปขอบขนานยาวประมาณ ๐.๓-๑.๓ มม. ปลายแหลมและบางแฉกด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดที่คอหลอดกลีบดอกบริเวณโคนแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๕-๐.๘ มม. อับเรณูรูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๐.๓ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาวประมาณ ๐.๒ มม.
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๒.๕ มม. แบนข้างมีกลีบเลี้ยง ๒ แฉก ติดทนที่ปลายผล และมีขนแข็งเมล็ดสีน้ำตาล รูปคล้ายทรงกระบอก กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาวประมาณ ๑ มม.
ฉัตรสามชั้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามพื้นที่โล่ง ที่รกร้าง ป่าเปิด ป่าไผ่ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อเมริกาเขตร้อน แอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ประโยชน์ ในแอฟริกาบางประเทศใช้ใบเป็นสมุนไพร.