งวงช้างดงเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง สูง ๑๐-๔๕ ซม. เป็นสันตามยาว เกลี้ยง แตกกิ่ง ๒-๓ กิ่งที่บริเวณปลายหรือช่วงบนของลำต้น กิ่งเรียวและแผ่พุ่มกว้าง
ใบเดี่ยว เรียงสลับหรือกึ่งตรงข้าม รูปไข่ รูปรีรูปรีแกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอก กว้าง ๐.๗-๓.๕ ซม.ยาว ๑-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มแกมสอบเรียวคล้ายเป็นปีก ๒ ข้างจนถึงก้านใบ แผ่นใบเมื่อแห้งบางเป็นเยื่อ ด้านบนมีขนยาวแนบไปกับผิวด้านล่างมีนวล เส้นใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น ปลายโค้งจดเข้าหากัน ห่างจากขอบใบ ๐.๘-๑ มม. ก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง ๑๒.๕ ซม. มี ๒๐-๘๐ ดอก ดอกคล้ายดอกถั่ว สีเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีส้ม ใบประดับรูปไข่แคบหรือรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. ร่วงง่าย พบน้อยที่ติดทน ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ มม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เรียงเป็น ๒ วง วงนอก ๓ กลีบ มีขนาดเล็ก รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ยาว ๑-๑.๕ มม. กลีบเลี้ยงวงใน ๒ กลีบ คล้ายกลีบดอก ขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงวงนอก รูปไข่กลับถึงรูปไข่หรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดถึงรูปกลม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓.๕ มม.ปลายมนหรือกลม โคนกลีบคอดเป็นก้านสั้น เกลี้ยง
ผลแบบผลแห้งแตก มี ๒ พู ทรงรูปไข่กลับถึงรูปทรงกลมหรือรูปขอบขนาน ค่อนข้างแบน กว้าง ๒-๓.๒ มม. ยาว ๒-๓.๕ มม. ปลายเว้าตื้น ผิวเรียบ และมีสันเห็นไม่ชัด ขอบเป็นครีบบาง กว้างได้ถึง ๐.๖ มม.เมล็ดสีดำ มี ๒ เมล็ด ทรงรูปไข่ ยาว ๑-๒.๑ มม.ผิวเรียบหรือมีปุ่มปม มีขนยาวสีขาวทั่วไป เยื่อหุ้มเมล็ดหยักเป็น ๓ พูไม่เท่ากัน ขนาด ๐.๔-๑.๒ มม. มีจุกขั้วเมล็ด กลวง สีดำเป็นมัน ขนาด ๐.๗ มม. มีขนทั่วไปที่ปลายจุกมีแผ่นบางรูปไตฝังอยู่ หรืออาจพบมีจุกขั้วที่ไม่เจริญ รูปคล้ายหนอน ขนาดประมาณ ๐.๑ มม.
งวงช้างดงมีเขตการกระจายพันธุ์ใประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ มักพบขึ้นในพื้นที่โล่ง ในพื้นที่ที่ถูกรบกวนแต่อาจพบขึ้นในที่ร่ม ในป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีนตอนใต้ และลาว.