คนทีสอเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๔ ม. เปลือกเรียบสีเทาอ่อน กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม เกือบทุกส่วนมีขนสั้นสีขาวหนาแน่น
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากก้านใบยาว ๑-๔ ซม. มีใบย่อย ๓ ใบ มีกลิ่น ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่มสีเทาหรือสีขาวใบย่อยใบกลางใหญ่สุด รูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปรี กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๒.๕-๘ ซม. ปลายแหลม โคนสอบหรือสอบเรียว ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น มีก้านใบย่อยยาวไม่เกิน ๖ มม. หรือไร้ก้านใบย่อยอีก ๒ ใบขนาดไล่เลี่ยกัน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเบี้ยว ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น ไม่มีก้านใบถ้าใบลดรูปเหลือใบเดียวจะเป็นรูปขอบขนานกว้าง รูปรีกว้าง หรือรูปไข่ กว้าง ๑.๒-๓ ซม. ยาว ๒-๖ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ ก้านใบยาว ๑-๔ ซม. ใบประดับเล็กมาก และเรียว
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ยาว ๕-๒๔ ซม. ออกที่ยอดและที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ยาว ๒-๖ ซม. มีดอก ๓-๑๕ ดอก ก้านดอกย่อย ยาว ๑-๕ มม. ก้านช่อย่อยยาว ๔-๘ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๒-๕ มม. ปลายหยักซี่ฟันเล็ก ๆ ๕ หยัก กลีบดอกสีม่วงอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๘ มม. ส่วนบนของหลอดกลีบดอกด้านในมีขนยาวสีขาวหนาแน่นด้านนอกมีขนสั้น ๆ สีขาว ปลายหลอดเป็นรูปปากเปิด แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบนมีแฉกเล็ก ๆ ๒ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายมน ยาวประมาณ ๒ มม. ซีกล่างหยักลึกเป็นแฉก ๓ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายมนขนาดใหญ่กว่าซีกบน แฉกกลางใหญ่สุด ยาว ๔-๖ มม. มีขนยาวสีขาวเป็นกระจุก ปลายแฉกสีเข้มกว่าส่วนอื่นอีก ๒ แฉกด้านข้างขนาดไล่เลี่ยกัน ยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน โคนติดอยู่ด้านในบริเวณกลางหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๘-๑ ซม. ด้านล่างมีขนยาวสีขาว อับเรณูสีม่วง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. มีวงกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ประมาณครึ่งผล ผลอ่อนสีเขียว สุกสีดำหรือสีดำอมม่วง เมล็ดเล็ก มี ๑-๒ เมล็ด ทรงรูปไข่ แข็ง
คนทีสอมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นในที่โล่งริมนํ้า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า จีน ญี่ปุ่น ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย
ประโยชน์ ใบใช้แก้โรคผิวหนัง แก้ไข้ และแก้ข้ออักเสบ ผลใช้แก้ไข้ แก้หวัด แก้ปวดศีรษะ แก้ข้ออักเสบ ขับระดู และถ่ายพยาธิ เมล็ดแก้ปวดฟัน และลดอาการบวมนํ้า ใบมีน้ำมันระเหยง่าย.