ขมหินสามทางเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๐.๕-๒ ม. ต้นและกิ่งมักเป็นสี่เหลี่ยม เปลือกเรียบ สีเขียวอ่อน กิ่งอ่อนอวบน้ำ กิ่งแก่มีช่องอากาศสีเหลืองแกมเขียวประปรายเนื้อในอ่อน สีขาว ลำต้นเป็นปล้องอวบ ปล้องยาว ๒-๕ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก คู่ใบมีขนาดใกล้เคียงกัน กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนแหลม สอบมน และมักเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักมน แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้มหรือสีออกน้ำตาล มีขนสีขาวนวลค่อนข้างหนาแน่นด้านล่างสีเขียวแกมเหลืองอ่อน มีประปราย เส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่างก้านใบเรียว ยาว ๑-๑๐ ซม. มีขนประปราย หูใบรูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ ๓ มม. ติดทน
ดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น หากร่วมต้นดอกเพศเมียจะอยู่ทางโคนช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อยาว ๕-๑๘ ซม. ก้านช่อยาว ๑-๘ ซม. ช่อแขนงข้างละ ๓-๕ ช่อ ติดเรียงสลับ ยาวได้ถึง ๘ ซม. แต่ละช่อแขนงมีช่อแขนงย่อย ๒-๓ ช่อ เรียงสลับ แต่ละช่อยาวได้ถึง ๓ ซม. ทุกส่วนมีขนประปราย ช่อดอกเพศผู้มีก้านช่อยาวและอวบ ดอกเพศผู้สีแดงแกมขาวหรือสีขาวแกมเขียวอ่อนกลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ขนาดใกล้เคียงกัน แต่ละแฉกยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดตรงกับแฉกกลีบรวม ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ช่อดอกเพศเมียมักสั้นกว่าช่อดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียส่วนใหญ่สีแดงหรือสีชมพู กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยปลายแยกเป็น ๓ แฉก ขนาดใกล้เคียงกัน พบน้อยที่มี ๔ แฉก ยาว ๑-๒ มม. เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๓ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มีขนประปราย มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่เบี้ยว ยาว ๑.๕-๒ มม. เกลี้ยง มีกลีบรวมติดทน เมล็ดเล็กมากมี ๑ เมล็ด
ขมหินสามทางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าเบญจพรรณแล้งและป่าดิบเขาที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๒๕๐ ม. ส่วนมากออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ ใบอ่อนและต้นอ่อนใช้กินเป็นผัก.