กรมเขาเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๘ ม. กิ่งก้านมีขนประปราย
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๔.๕-๑๔.๕ ซม. ยาว ๑๒.๕-๒๗.๕ ซม. ปลายใบเรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือแหลม มีต่อมขนาดเล็กเห็นไม่ชัด ขอบเป็นคลื่นหยักมน หรือจักซี่ฟัน มีต่อมที่ชอบเห็นได้ชัด แผ่นใบบาง ไม่มีต่อมรูปถ้วย ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนหยาบแข็ง เมื่อแห้งด้านบนสีออกน้ำตาลหรือเขียว ด้านล่างสีเข้มกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๓.๒ ซม. โคนคล้ายนวมรูปไตเห็นได้ชัด หูใบร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อแยกแขนงตามง่ามใบช่อย่อยแบบช่อกระจุกแยกแขนง ช่อดอกเพศผู้มี ๑-๖ ช่ออยู่ด้วยกัน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๘-๒.๘ ซม. มีขนสั้นหนานุ่ม ก้านช่อดอกสั้นมาก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. รองรับดอกเพศผู้ที่เรียงเป็นกระจุกกลมบนแกนช่อดอกห่างกันประมาณ ๑ มม. ดอกเพศผู้ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงส่วนมากมี ๔ กลีบ อาจพบ ๓ หรือ ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๑ มม. ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๒ อัน ยาวประมาณ ๑ มม. ไม่โผล่พ้นกลีบเลี้ยงหรือโผล่พ้นเล็กน้อย อับเรณูเล็กมาก มี ๒ ช่อง เกสรเพศเมียเป็นหมันขนาดเล็ก ช่อดอกเพศเมียมี ๑-๓ ช่ออยู่ด้วยกัน ยาว ๒-๙ มม. มีขนสั้นหนานุ่ม แต่ละช่อมีได้ถึง ๙ ดอก เรียงเวียนแน่นอยู่บนแกนกลาง ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๒ มม. ดอกเพศเมียยาว ๓-๕ มม. ก้านยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ อาจพบมี ๓ กลีบ รูปไข่ กางออก ยาวประมาณ ๑ มม. ไม่มีกลีบดอก อาจพบเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๑ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นหนานุ่ม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย หรือมียาวไม่เกิน ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉกจนเกือบถึงโคน
ผลแยกแล้วแตก รูปไข่ กว้าง ๐.๙-๑.๒ ซม. ยาว ๑- ๑.๒ ซม. ไม่มีก้านและจะงอย เมื่อแห้งสีออกคล้ำหรือน้ำตาลมีรอยเชื่อมสีขาวปนเหลืองอ่อน มีขนทั่วไป ผนังกั้นมีขนคล้ายไหมอยู่ตามชอบ เมล็ดกว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๖-๙ มม. หนา ๓-๔ มม.
กรมเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ขึ้นตามป่าดิบ ป่ารุ่น และชายป่าพรุ สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว