ช่อไข่มุก

Vaccinium eberhardtii Dop var. pubescens H. R. Fletcher

ชื่ออื่น ๆ
ขี้ฤๅษี, ดอกใต้ใบ (เลย)
ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่กลับค่อนข้างแคบ หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง แกนช่อดอกเป็นเหลี่ยม ๓ เหลี่ยม ดอกสีขาวอมชมพู ห้อยลง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปคนโท สันกลีบและปลายกลีบสีชมพูเข้ม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดสีเขียวนวล รูปทรงค่อนข้างกลม มีกลีบเลี้ยงติดทน เมื่อสุกสีม่วงหรือสีม่วงอมดำ เมล็ดเล็ก รูปทรงรี มีจำนวนมาก

ช่อไข่มุกเป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๑ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ๕-๘ มม. มักแตกกิ่งแน่น เปลือกเรียบสีน้ำตาลอมเทา เกือบทุกส่วนมีขนสั้นสีขาวประปรายถึงหนาแน่น กิ่งอ่อนและยอดอ่อนสีเขียวอมแดงหรือสีแดงอมส้ม กิ่งแก่สีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่กลับค่อนข้างแคบหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๗-๑.๔ ซม. ยาว ๐.๙-๓ ซม. ปลายเป็นติ่งหนาม โคนสอบเรียวหรือรูปลิ่มขอบจักฟันเลื่อยห่าง แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เกลี้ยงหรือมีขนประปรายบริเวณโคนเส้นกลางใบ ด้านล่างสีจางกว่าเล็กน้อย


มีต่อมขนาดเล็กสีน้ำตาลประปรายถึงหนาแน่น เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑-๑.๕ มม. ด้านบนเป็นร่องตื้น ด้านล่างนูนเด่นชัด มีขนสั้นนุ่มสีขาวประปรายปลายก้านใบที่ติดกับโคนใบมีต่อมข้างละ ๑ ต่อม

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว ๓.๕-๙ ซม. ก้านช่อและแกนช่อสีเขียวอมแดงหรือสีแดงอมส้ม ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอกยาว ๐.๒-๒.๕ ซม. แกนช่อดอกเป็นเหลี่ยม ๓ เหลี่ยม ยาว ๓-๗.๕ ซม. ทั้งก้านช่อและแกนช่อมีขนสั้นนุ่ม สีขาวประปรายถึงหนาแน่น ใบประดับและใบประดับย่อยสีแดงเลือดนก ใบประดับรูปรี กว้าง ๑.๒-๒.๕ มม. ยาว ๓-๕ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยถี่ แต่ละดอกมีใบประดับย่อย ๑ คู่ รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มขอบจักฟันเลื่อยหรือมีขนครุย ทั้งใบประดับและใบประดับย่อยมีขนสั้นสีขาวประปรายถึงหนาแน่น ร่วงง่าย แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านดอกสีชมพูอมแดง ยาว ๒-๓ มม. มีขนสั้นประปราย ดอกสีขาวอมชมพู ห้อยลง กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายกลีบสีชมพูอมแดง แยกเป็นแฉกเล็ก ๕ แฉก ขนาดเกือบเท่ากัน รูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลมด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีขาวหนาแน่น ด้านในเกลี้ยงกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปคนโท มีสันตามยาว ๕ สัน กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๕-๗ มม. ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลมและโค้งออกเล็กน้อย ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนอุยสีขาวหนาแน่น สันกลีบและปลายกลีบสีชมพูเข้ม เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสีเหลืองอมส้ม รูปลิ่มแคบและแบน ยาว ๒-๒.๕ มม. มีขนอุยสีขาวหนาแน่น อับเรณูติดด้านหลังสีเหลืองเข้ม รูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ ๑ มม. ผิวขรุขระ ด้านหลังมีเดือย ๒ อัน ยาว ๐.๕-๐.๖ มม. ปลายยืดเป็นหลอด ยาว ๑-๒ มม. เปิดเป็นช่องที่ปลายจานฐานดอกเกลี้ยง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีขาวอมเขียว เรียวยาว ยาวได้ถึง ๖ มม. โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียสีเขียวอ่อน ปลายมน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีเขียวนวลรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ มม. เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมื่อสุกสีม่วงหรือสีม่วงอมดำ เมล็ดเล็ก แบนด้านข้าง รูปทรงรี กว้าง ๐.๓-๐.๔ มม. ยาวประมาณ ๐.๘ มม. มีจำนวนมากผิวเรียบ

 ช่อไข่มุกเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบขึ้นตามป่าดิบเขา ป่าสนเขาที่ค่อนข้างเปิด ตามลานหิน ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๓๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช่อไข่มุก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vaccinium eberhardtii Dop var. pubescens H. R. Fletcher
ชื่อสกุล
Vaccinium
คำระบุชนิด
eberhardtii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dop, Paul Louis Amans
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. pubescens
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- H. R. Fletcher
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1876-1954)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้ฤๅษี, ดอกใต้ใบ (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายภัทธรวีร์ พรมนัส