ขบเขี้ยวเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เกือบทุกส่วนมีขนสีแดงนุ่มหนาแน่น กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขอเกี่ยวตามง่ามใบ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๗-๑๑ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนประปรายถึงหนาแน่น ด้านล่างมีขนนุ่มหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น ปลายโค้งขึ้น ก้านใบยาว ๓-๖ มม. มีขนสั้น ๆ หนาแน่น หูใบระหว่างก้านใบรูปค่อนข้างกลม ปลายเว้าลึกเป็นสองแฉก มีขนสั้น ๆ ทั้ง ๒ ด้าน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น กลม ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒.๕-๓ ซม. ใบประดับ ๔-๖ ใบ รูปไข่ ปลายแหลม ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ก้านดอกย่อยสั้นมากหรือไม่มี กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกเรียวยาว ปลายแหลม โคนแบน มีขนอ่อนนุ่มหนาแน่นทางด้านนอก กลีบดอกสีแดง โคนติดกันเป็นหลอดแคบ ๆ ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ติดอยู่ที่ปากหลอดดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปรี มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยาว ๑.๘-๒ ซม. ยื่นพ้นปากหลอด ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตก ออกรวมเป็นกระจุกกลมแน่น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๗ ซม. แต่ละผลรูปกระสวยหรือรูปรี ยาว ๑-๑.๘ ซม. มีสันตามยาว ๑๐ สัน และมีขนอ่อนนุ่มคล้ายเส้นไหม มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ปลาย ผลแก่แตกเป็น ๒ ซีกตามยาว ก้านผลยาว ๑-๑.๘ ซม. เมล็ดเล็ก จำนวนมาก มีปีกยาวที่ปลายทั้ง ๒ ข้าง
ขบเขี้ยวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาะบอร์เนียว.