กระแดะ

Caesalpinia pubescens (Desf.) Hattink

ชื่ออื่น ๆ
กาแด๊ะ (สุราษฎร์ธานี)
ไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีหนามงองุ้ม ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ใบย่อยรูปรีกว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ฝักรูปรี ด้านบนมีครีบ

กระแดะเป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นและก้านใบมีหนามงองุ้มคล้ายหนามกุหลาบห่าง ๆ กิ่งอ่อน ใบอ่อนและก้านช่อดอกมีขนนุ่มสั้น แต่จะค่อย ๆ ร่วงไป

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ยาว ๒๕-๕๐ ชม. หูใบเล็กเรียวแหลม ใบประกอบแยกแขนงตรงข้ามกัน ๖-๘ คู่ แต่ละแขนงมีใบย่อยขนาดเล็ก เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้ามกัน ๖-๑๒ คู่ รูปรีกว้าง กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายมนหรือหยักเว้า โคนเฉียง

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ก้านดอกยาวประมาณ ๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ด้านนอกมีขนสั้นสีน้ำตาลอมเหลือง กลีบนอกสุดเรียวแหลมยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบอื่น ๆ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. โคนติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอก ๕ กลีบ ปลายแผ่กว้างค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๒ ซม. เรียวคอดลงมาเป็นก้านกลีบยาว ๒-๔ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว

 ฝักรูปรี กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ขอบด้านบนแผ่เป็นครีบตามยาวฝัก โคนฝักเรียวแหลม ปลายมน มีเมล็ดแบน ๔-๗ เมล็ด เรียงสลับกันอยู่ตอนกลางฝัก

 กระแดะมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ขึ้นตามป่าละเมาะหรือตามชายป่า ออกดอกประมาณเดือนสิงหาคม ฝักแก่ประมาณเดือนพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระแดะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Caesalpinia pubescens (Desf.) Hattink
ชื่อสกุล
Caesalpinia
คำระบุชนิด
pubescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Desfontaines, René Louiche
- Hattink, T.A.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Desfontaines, René Louiche (1750-1833)
- Hattink, T.A. (fl. 1970)
ชื่ออื่น ๆ
กาแด๊ะ (สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม