ตับเต่า ๓

Trivalvaria costata (Hook. f. et Thomson) I. M. Turner

ชื่ออื่น ๆ
มะขาว, มะขาวดอกเล็ก (ใต้)
ไม้พุ่ม เปลือกต้นสีเทาอ่อน กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกเหนือซอกใบ พบบ้างที่ออกตรงข้ามใบหรือตามกิ่งแก่ มีทั้งดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศ สีเหลืองอ่อน สีขาวนวล หรือสีขาว ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยรูปคล้ายทรงกระบอกหรือรูปทรงรี ปลายแหลม เกลี้ยงหรือมีขน อาจมีนวล สุกสีแดง เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก ผิวเป็นมัน

ตับเต่าชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๓-๕ ม. เปลือกต้นสีเทาอ่อน กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๙ ซม. ยาว ๕-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ผิวหยาบ ด้านล่างสีจางกว่า เมื่ออ่อนมีขน เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๙ เส้น ค่อนข้างขนานกัน ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นใบแบนราบหรือเป็นร่องเล็กน้อยทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๒-๑ ซม. เมื่ออ่อนมีขน เมื่อแก่เกลี้ยง

 ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกเหนือซอกใบ พบบ้างที่ออกตรงข้ามใบหรือตามกิ่งแก่ ใบประดับ ๑-๒ ใบ รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม ยาว ๑.๕-๓ มม. ปลายแหลม ร่วงง่าย ก้านดอกอวบหนา ยาว ๒-๘ มม. มีขน ดอกเมื่อบานกว้าง ๒-๒.๕ ซม. มีทั้งดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศ สีเหลืองอ่อน สีขาวนวล หรือสีขาว ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่กว้างหรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑.๕-๓.๕ มม. ยาว ๑.๕-๔ มม. ปลายเรียวแหลมหรือมน ด้านนอกมีขนหนาแน่น กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอกเล็กกว่ากลีบวงใน กลีบวงนอกส่วนมากรูปไข่กว้างหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๔.๕ มม. ยาว ๔-๘ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบวงในรูปใบหอกหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๕ มม.ยาว ๐.๔-๑.๒ ซม. ปลายมน มีฐานดอกรูปกรวย เกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียงอยู่บนฐานดอก เกสรเพศผู้ยาว ๑.๓-๒.๖ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน แกนอับเรณูยื่นยาวรูปคล้ายโล่หรือคล้ายลิ้น เล็กมาก ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบดอกและกลีบเลี้ยงเหมือนดอกเพศผู้ แต่มีฐานดอกรูปทรงกระบอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก เรียงอยู่บนฐานดอก แกนอับเรณูยื่นเป็นติ่งเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แยกเป็นอิสระ มี ๓-๑๐ รังไข่ รูปขอบขนาน มีขน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากและมักมีขน หรือไร้ก้าน ยอดเกสรเพศเมียเล็ก มีขน

 ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยรูปคล้ายทรงกระบอกหรือรูปทรงรี กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑-๓ ซม. ปลายแหลม เกลี้ยงหรือมีขน อาจมีนวล สุกสีแดง ก้านผลกลุ่มยาว ๓-๘ มม. ก้านผลย่อยยาว ๑-๖ มม. เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก ผิวเป็นมัน

 ตับเต่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ จีน ลาว เวียดนาม และคาบสมุทรมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตับเต่า ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Trivalvaria costata (Hook. f. et Thomson) I. M. Turner
ชื่อสกุล
Trivalvaria
คำระบุชนิด
costata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
- Turner, Ian Mark
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
- Turner, Ian Mark (1963-)
ชื่ออื่น ๆ
มะขาว, มะขาวดอกเล็ก (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์