ตะบัน

Xylocarpus rumphii (Kostel.) Mabb.

ชื่ออื่น ๆ
ตะบูน (ระยอง); ตะบูนดำ
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง โคนลำต้นมีพูพอนและรากหายใจโผล่พ้นผิวดินขึ้นมาเป็นบริเวณกว้าง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๔-๘ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่หรือรูปหัวใจ ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจ ุกเช ิงประกอบคล้ายช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาว สีเหลืองอ่อน หรือสีเขียวอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมแป้นแข็ง เมล็ดรูปกรวยเบี้ยว น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้

ตะบันเป็นไม้ต้น สูง ๔-๑๐ ม. เส้นรอบวง ๐.๕-๑.๕ ม. เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมสีเทาอ่อน แตกเป็นสะเก็ด และมีช่องอากาศทั่วไป เปลือกในสีชมพูแกมสีม่วงและเป็นเส้นใย ส่วนเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน รอบ ๆ โคนลำต้นมีพูพอนและรากหายใจโผล่พ้นผิวดินขึ้นมาเป็นบริเวณกว้าง


 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ยาว ๕-๒๐ ซม. มีใบย่อย ๔-๘ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่หรือรูปหัวใจ กว้าง ๓.๕-๗ ซม. ยาว ๕.๕-๑๓ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนกว้างหรือรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ใบอ่อนมีขนประปราย ใบแก่เกลี้ยงและมักมีจุดประสีดำกระจายทั่วไปทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ปลายเชื่อมกันใกล้ขอบใบ เป็นร่องทางด้านบน และเป็นสันนูนทางด้านล่าง ก้านใบประกอบยาว ๓-๕ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๒-๔ มม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบคล้ายช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๑๘ ซม. มักมีแขนงช่อย่อยหลายแขนง ใบประดับและใบประดับย่อยคล้ายกาบ รูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. มีขนนุ่มตามผิวด้านนอก ปลายมีขนครุย ก้านดอกยาว ๒-๒.๕ มม. เมื่ออ่อนมีขนนุ่ม กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ขอบกลีบจดกัน มีขนนุ่มทางด้านนอก ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีขาว สีเหลืองอ่อน หรือสีเขียวอ่อน มี ๔ กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. เรียงเวียน มีขนประปรายทางด้านนอก ด้านในเกลี้ยง ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๘ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๘ แฉก อับเรณูติดแนบบริเวณผนังปากหลอดด้านในตรงกับแฉกปากหลอด ดอกเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบทรงรูปไข่ค่อนข้างป้อม เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๓-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียแผ่โค้งคล้ายรูปครึ่งวงกลม

 ผลแบบผลแห้งแตก เปลือกแข็งเหมือนไม้ รูปทรงค่อนข้างกลมแป้น พอสังเกตเห็นได้เป็น ๔ พู กว้าง ๗-๗.๕ ซม. ยาว ๕.๕-๗ ซม. เมื่อแห้งมักแยกเป็น ๔ เสี่ยงเมล็ดรูปกรวยเบี้ยว กว้าง ๓.๕-๕ ซม. ยาว ๓.๕-๔.๕ ซม. หนา ๓-๔ ซม. น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้

 ตะบันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามโขดหินตามชายฝั่งทะเล ที่น้ำทะเลอาจท่วมถึงบางเวลา ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่โซมาเลีย อินเดีย เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ช่วยยึดหน้าดินตามชายฝั่ง และเป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเล.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะบัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xylocarpus rumphii (Kostel.) Mabb.
ชื่อสกุล
Xylocarpus
คำระบุชนิด
rumphii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kosteletzky, Vincenz Franz
- Mabberley, David John
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Kosteletzky, Vincenz Franz (1801-1887)
- Mabberley, David John (1948-)
ชื่ออื่น ๆ
ตะบูน (ระยอง); ตะบูนดำ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย