ขิงดา

Zingiber kerrii Craib

ชื่ออื่น ๆ
ขิงแมงดา (เหนือ)
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้า รูปขอบขนานใบประดับสีเขียวปลายแต้มสีแดง ดอกสีนวล ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดรูปกระสวย สีน้ำตาลเข้ม

ขิงดาเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดิน ขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ ๑.๕ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ กว้าง ๑.๘-๒.๕ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ปลายแหลม โคนมนขอบเรียบ แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบมีขนหนาแน่นลิ้นใบยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก มีขนหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้า รูปขอบขนานปลายแหลม กว้าง ๓-๓.๕ ซม. ยาว ๘-๑๐ ซม. ก้านช่อยาว ๘-๑๑ ซม. ใบประดับเรียงซ้อนกันแน่น รูปรี กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. สีเขียวปลายแต้มสีแดง ขอบบางและแห้ง แต่ละใบรองรับกลุ่มของดอก แต่ละดอกมีใบประดับย่อยโอบหุ้มอยู่ ใบประดับย่อยรูปรี ยาวได้ถึง ๒.๗ ซม. ครึ่งบนมีสีแดงคล้ายใบประดับ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๖ ซม. กลีบดอกส่วนที่เป็นหลอด ยาวประมาณ ๔.๗ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แฉกบนกว้างประมาณ ๐.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑.๗ ซม. แฉกข้าง ๒ แฉก ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ ๐.๓ ซม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมัน


ที่เปลี่ยนเป็นกลีบปากสีนวล รูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๑ ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลืออีก ๒ เกสร คล้ายกลีบดอก สีนวล โคนมีรอยขีดสีน้ำตาลแดง รูปขอบขนานกว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๗ มม. ปลายมีรยางค์ยาวโอบหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียรูปถ้วย ขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. เมล็ดรูปกระสวย สีน้ำตาลเข้ม

 ขิงดามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าดิบชื้นป่าก่อ ที่สูงจากระดับทะเล ๗๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขิงดา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Zingiber kerrii Craib
ชื่อสกุล
Zingiber
คำระบุชนิด
kerrii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
ขิงแมงดา (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์