ขนุนป่า

Artocarpus Ianceifolius Roxb.

ไม้ต้น โคนเป็นพอนต่ำ เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา ทุกส่วนมียางขาว ใบเรียงเวียน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศร่วมต้นและต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ ผลแบบผลรวม ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน สีน้ำตาลอมเขียวเข้ม

ขนุนป่าเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๓๐ ม. ทุกส่วนมียางขาว เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นตรง โคนต้นเป็นพอนต่ำ เปลือกสีน้ำตาลอมเทาหรือสีเทาคล้ำ ค่อนข้างเรียบหรือเป็นสะเก็ดทั่วไป ตามยอดและกิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๒๐ ซม. ยาว ๑๒-๓๕ ซม. ปลายแหลม ปลายสุดเป็นติ่งมนสั้น โคนสอบ ขอบไม่หยักเว้าแต่ย่นเป็นคลื่นชัดเจน ใบของต้นอ่อนเว้าลึกเป็นแฉก ๆ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจาง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. หูใบม้วนคล้ายรูปกรวยแหลมหุ้มยอดยาว ๑.๓-๒.๖ ซม. เมื่อใบเจริญขึ้นหูใบจะร่วงไปเหลือรอยแผลตามกิ่ง

 ดอกแยกเพศร่วมต้นและต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ ช่อดอกเพศผู้ประกอบด้วยดอกเพศผู้ขนาดเล็กจำนวนมากอัดกันแน่นบนแกนยาวเป็นรูปทรงกระบอกสั้น ๆ ยาว ๓-๖ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ ซม. ก้านช่อยาว ๒-๖ ซม. ช่อดอกเพศเมียรูปกลม สีเหลืองอมเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลรวม อุ้มน้ำ สีน้ำตาลอมเขียวเข้ม มีขนเกรียนนุ่มทั่วไป ประกอบด้วยผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อนขนาดเล็กจำนวนมากอัดกันแน่นบนแกนเป็นช่อกลมหรือกลมรี ยาว ๗–๑๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ ซม. ปลายผลย่อยแต่ละผลต่อกันเป็นตา ๆ รูป ๔-๖ เหลี่ยม แต่ละตากว้าง ๒-๓ มม. ตรงกลางนูนเล็กน้อย ก้านช่อผลแข็ง ยาว ๖–๑๓ ซม. ปลายติดกับฐานของช่อผลที่บุ๋มเข้าไปเป็นแอ่ง

 ขนุนป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย

 ผลกินได้ ไม้ใช้ในการก่อสร้างบ้าน ทำกระดาน พื้น ฝา ทำเครื่องเรือน เรือ เครื่องมือเกษตร ชาวจีนในมาเลเซียนิยมใช้ไม้ทำหีบศพ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขนุนป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Artocarpus Ianceifolius Roxb.
ชื่อสกุล
Artocarpus
คำระบุชนิด
Ianceifolius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข