กระดูกอึ่งชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. แตกกิ่งมาก กิ่งค่อนข้างกลม มีขนสั้นสีน้ำตาลประปรายถึงหนาแน่น
ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนสีเทาถึงน้ำตาลอ่อน หูใบบางโปร่งแสง กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายเรียวแหลมมีขนสั้น ใบย่อยรูปรี รูปไข่ รูปไข่กลับ ถึงรูปขอบขนาน ขนาดไล่เลี่ยกันแต่ใบกลางใหญ่กว่าเล็กน้อย กว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๕ ซม. ปลายมน โคนสอบมน แผ่นใบบาง ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านล่างมีขนสั้นสีเทาถึงน้ำตาลอ่อนเส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ก้านใบย่อยกลางยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ก้านใบย่อยคู่ข้างสั้นมาก
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวถึงเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงยาว ๔.๕-๗ ซม. โคนติดกันเป็น
ฝักแบน เบี้ยวถึงเกือบกลม กว้างประมาณ ๘ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. มี ๑ เมล็ด ขนาดเล็ก รูปไต
กระดูกอึ่งชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามที่โล่งในป่าเบญจพรรณที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้และภูมิภาคอินโดจีน