ตับเต่าชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๗-๑๓ ซม. ปลายแหลม โคนใบแบบก้นปิด ตัด หรือมน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบบาง เกลี้ยง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีจางกว่า เส้นใบแบนราบทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นใบจากจุดเชื่อมต่อก้านใบใต้แผ่นใบ ๘-๑๒ เส้น มีเส้นแขนงใบจากเส้นกลางใบ ๑-๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบติดใต้แผ่นใบแบบก้นปิด ยาว ๔-๑๒ ซม. เกลี้ยง โคนก้านป่องและเป็นข้องอ
ดอกแยกเพศต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่ม อาจมีช่อย่อย ๒-๓ ช่อ เรียงตามแกนช่อสั้นมาก ออกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองอ่อนอมเขียวอ่อน ช่อดอกเพศผู้ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. เกลี้ยงหรือมีปุ่มเล็ก ดอกเพศผู้ขนาดเล็ก ก้านดอกยาว ๑.๒-๑.๕ มม. ดอกตูมมีปุ่มเล็ก กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ สีเขียว เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๓ กลีบ รูปรีถึงรูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาว ๑-๑.๒ มม. กลีบวงใน ๓ กลีบ มีขนาดใหญ่กว่ากลีบวงนอกเล็กน้อย กลีบดอก ๓ กลีบ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๐.๗ มม. เกสรเพศผู้ ๔-๘ เกสร เชื่อมติดกัน ยาว ๐.๗-๑ มม. ปลายตัดแผ่คล้ายจาน อับเรณูมีขนาดเล็ก ช่อดอกเพศเมียคล้ายช่อดอกเพศผู้แต่มีช่อใหญ่และยาวกว่า ช่อดอกเพศเมียยาว ๓-๕ ซม. เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๗ ซม. ดอกเพศเมียมีก้านสั้นมากหรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ สีเขียว รูปรี กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๐.๗-๑ มม. กลีบดอก ๓ กลีบ รูปไข่กลับ คล้ายกลีบดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเล็กและมี ๓-๕ หยัก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ค่อนข้างแบน ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงเกือบกลม กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๗-๙ มม. ผนังผลชั้นในคล้ายรูปเกือกม้า ผิวแข็ง ตามขอบมีลวดลายคล้ายมีตุ่มเล็กเรียงเป็น ๔ แถว แถวละ ๙-๑๑ ตุ่ม ผลสีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีเหลืองถึงสีส้มอมแดง มีรอยแผลของก้านยอดเกสรเพศเมียที่ใกล้ขั้วผล ก้านผลยาว ๓-๕ มม. บางครั้งก้านผลอาจสั้นมาก เมล็ดคล้ายรูปเกือกม้า มี ๑ เมล็ด
ตับเต่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามริมลำธารในป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๔๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมา เกาะบอร์เนียว และเกาะชวา.