ชวด

Calophyllum macrocarpum Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
ตังหน (ตรัง)
ไม้ต้น ทุกส่วนมียางสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือแกมรูปใบหอกกลับ เส้นแขนงใบเรียงชิดถี่ขนานกัน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมเหลือง ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ แบนด้านข้างเล็กน้อย เมล็ดรูปคล้ายผล

ชวดเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๔๕ ม. เส้นรอบวง ๑-๑.๕ ม. เปลือกสีน้ำตาลเข้ม มักแตกเป็นร่องตามยาวเป็นสะเก็ดหนา กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยมตามยาวผิวเรียบ เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง และเป็นคราบสีขาวเมื่อแห้ง ตามรอยแตกของเปลือกมียางสีขาวแล้ว เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนติดอยู่ เนื้อไม้แข็งและเหนียวกระพี้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลเข้ม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๑๔-๑๘ ซม. ปลายมนแล้วหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ โคนสอบเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ผิวเกลี้ยงเป็นมันทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงชิดถี่ขนานกัน เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบเรียว ยาว ๒-๓.๕ ซม. และมักเป็นร่องทางด้านบนช่อดอกแบบช่อกระจะ (อาจแยกแขนง) ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อยาว ๒-๔ ซม. บริเวณโคนช่อมีขนยาวสีน้ำตาลแดงค่อนข้างหนาแน่น แต่ละช่อมี ๓-๑๕ ดอก ปลายช่อมักห้อยย้อยลง กลีบรวมมี ๘ กลีบ สีขาวอมเหลือง รูปช้อนหรือรูปไข่กลับกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายกลีบมนกว้าง โคนสอบ เรียงซ้อนเหลื่อมหรือบิดเวียน ขอบและปลายกลีบงุ้มเข้าเล็กน้อย เกสรเพศผู้จำนวนมาก สีเหลือง อับเรณูติดที่ฐาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ปลายยอดแบน

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่แบนด้านข้างเล็กน้อย กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๙-๑๒ ซม. ผนังชั้นนอกบาง เรียบ สีเขียวเป็นมันและมักมีนวลเนื้อเยื่อชั้นกลางฉ่ำน้ำและมีเส้นใย ผนังชั้นในแข็งเมล็ดรูปคล้ายผล กว้างประมาณ ๔ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม.

 ชวดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ ผลมีเนื้อรับประทานได้ แต่มีเส้นใยมาก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชวด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Calophyllum macrocarpum Hook. f.
ชื่อสกุล
Calophyllum
คำระบุชนิด
macrocarpum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
ตังหน (ตรัง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย