จักค้านแดงเป็นไม้เลื้อย เถารูปทรงกระบอกหรืออาจเป็นสันบ้าง มักมีช่องอากาศเล็ก ๆ กระจายทั่วไป เปลือกค่อนข้างเกลี้ยงหรือเกลี้ยง เถาแก่มีเนื้อแข็ง สีออกเหลือง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ค่อนข้างกว้าง กว้าง ๗-๑๓.๓ ซม. ยาว ๑๐.๕-๑๕.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนกระจายทั่วไป เส้นโคนใบ ๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๑-๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน และมักมีขนหนาแน่นตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบก้านใบยาว ๕-๘.๕ ซม. อาจพบยาวได้ถึง ๑๐ ซม. มีขนต่อมาค่อนข้างเกลี้ยง
ดอกแยกเพศต่างช่อ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อแยกแขนง ออกตามเถาบริเวณเหนือรอยแผลใบ ก้านช่อยาว ๑-๒ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุก มีจำนวนมาก ช่อยาว ๒-๓ ซม. มีขนสีเหลืองอ่อน ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก รูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ ๑ มม. ดอกเพศผู้มีขนาดเล็ก สีเหลืองอมเขียวอ่อนหรือสีนวลก้านดอกยาว ๑-๓ มม. มีขน กลีบเลี้ยงมี ๓ ชั้น กลีบด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง ชั้นนอก ๒ กลีบ คล้ายใบประดับย่อย ขนาดเล็กมาก รูปไข่เรียว ยาว ๐.๑-๑ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง ชั้นกลางมี ๓ กลีบ รูปคล้ายเรือ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ชั้นใน ๓ กลีบ รูปไข่หรือรูปไข่กลับมักโค้ง กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบดอก ๖ กลีบ แต่ละกลีบเล็ก ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เรียง ๒ ชั้น ชั้นนอก ๓ กลีบ รูปไข่หรือรูปไข่กลับชั้นใน ๓ กลีบ รูปรีแกมรูปขนมเปียกปูน เกลี้ยง ด้านในแต่ละกลีบอาจมีตุ่มพอง ๑ คู่ เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ยาว ๑-๒.๕ มม. โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายก้านแยก อับเรณูรูปรีแกมรูปขอบขนาน มีขนาดเล็ก แกนอับเรณูหนา ช่อดอกเพศเมียและผลยังไม่มีข้อมูล แต่หากพิจารณาตามลักษณะสกุล ดอกเพศเมียของพืชสกุลนี้มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ รังไข่ แยกเป็นอิสระ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด และผลของพืชสกุลนี้เป็นผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง
จักค้านแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามริมลำธาร ในป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๕๐-๑,๓๕๐ ม. ดอกเพศผู้ออกดอกเดือนมีนาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและจีนตอนใต้.