คอเหี้ยเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีไหล ลำต้นตั้ง สูง ๐.๕-๑.๒ ม. โคนต้นมีขนคล้ายใยแมงมุม หรือบางครั้งเกลี้ยง แตกกิ่งเล็กน้อย
ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกระจุกที่โคนต้นและเรียงเวียนห่าง ๆ ตามลำต้น ใบที่อยู่โคนต้นและกิ่งล่างมักจะเหี่ยวก่อนดอกบาน รูปใบโดยรวมเป็นรูปขอบขนานหรือรูปรี กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๗-๑๗ ซม. แต่รูปใบจริงหยักลึกแบบขนนกข้างละ ๒-๓ หยัก รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบหรือจักซี่ฟัน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวมีขนคล้ายใยแมงมุมถึงค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างมีขนแบบขนแกะหนาแน่น ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. ใบที่อยู่ส่วนบนของลำต้นมักจะเล็กลง อาจเหลือเพียง ๓ แฉก เล็ก ๆ รูปใบหอก
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือปลายกิ่งใกล้ยอด ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ช่อดอกย่อยมีแต่ดอกย่อยกลาง สีนํ้าตาลอ่อน ฐานดอกร่วมนูนเล็กน้อยวงใบประดับมี ๓-๔ ชั้น ซ้อนเหลื่อมกันเป็นรูประฆังกลม กว้าง ๒.๒-๒.๘ มม. ยาว ๒.๘-๓.๒ มม. มีขนคล้ายใยแมงมุมบาง ๆ วงใบประดับนอกสุดรูปไข่กว้าง ปลายป้านส่วนวงในรูปขอบขนาน ปลายมนกลม ขอบใส ดอกที่อยู่ตามขอบนอกมี ๗-๑๒ ดอก เป็นดอกเพศเมีย ไม่มีกลีบเลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๐.๗-๑ มม. กลุ่มดอกที่อยู่ตรงกลาง มี ๗-๑๐ ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ไม่มีกลีบเลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๐.๔ มม. มีต่อมเล็ก ๆ ที่โคนหลอด ปลายหลอดแยกเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก รูปไข่ เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดขนาดเล็กมาก ล้อมรอบก้านยอดเกสรเพศเมีย ก้านชูอับเรณูแยกจากกัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกตื้น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปขอบขนาน ยาว ๐.๓-๐.๕ มม.
คอเหี้ยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามทุ่งหญ้า ที่สูงจากระดับนํ้าทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เทือกเขาหิมาลัย จีนตอนกลาง และตอนใต้ญี่ปุ่น และเวียดนาม.