ขิง

Zingiber officinale Roscoe

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้า รูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก ใบประดับสีเขียวอ่อน เรียงซ้อนกันแน่น ดอกสีเหลืองอ่อน อับเรณูมีหงอนยาวและโค้งหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมียที่ยาวขึ้นไปเหนืออับเรณู ผลแบบผลแห้งแตกรูปค่อนข้างกลม สุกสีแดง เมล็ดรูปทรงรี สีน้ำตาลเข้ม

 ขิงเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าผิวนอกสีน้ำตาลอ่อน ภายในสีเหลืองอ่อน มีลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดิน ขึ้นเป็นกอ สูง ๐.๕-๑ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๑๕-๒๓ ซม. ปลายเป็นติ่งยาว โคนสอบ ขอบเรียบ ด้านล่างมีขน ก้านใบยาวประมาณ ๓ มม. ลิ้นใบเป็นแฉกตื้น ๒ แฉก ยาว ๓-๕ มม. ปลายตัด เกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้า ก้านช่อตั้งตรงขึ้นเหนือดิน ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ช่อดอกรูปรีหรือรูปทรงกระบอก กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ใบประดับเรียงซ้อนกันแน่น สีเขียวอ่อน รูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. เกลี้ยง ปลายมีติ่งหนาม ขอบโค้งเข้าใบประดับย่อยรูปรี กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีขาว ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก และแยกลึกลงด้านเดียว กลีบดอกสีเหลืองอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด


ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แฉกบนรูปใบหอก กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. แฉกข้าง ๒ แฉก รูปแถบ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เปลี่ยนเป็นกลีบปากรูปไข่กลับ ขนาดประมาณ ๑.๒ ซม. สีม่วงและมีแต้มสีเหลืองตรงกลาง เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลืออีก ๒ เกสร คล้ายกลีบดอก รูปไข่ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. สีเดียวกับกลีบปาก ขนาบ ๒ ข้างกลีบปากและเชื่อมติดเป็นแผ่นเดียวกัน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๑ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูสีนวลยาวประมาณ ๘ มม. ปลายมีหงอนยาวและโค้งหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมียที่ยาวขึ้นไปเหนืออับเรณู ซึ่งเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของพืชสกุลนี้ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียรูปถ้วย ขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม สุกสีแดงเมล็ดรูปทรงรี สีน้ำตาลเข้ม โคนมีครุยซึ่งเป็นถุงบางใส

 ขิงมีถิ่นกำเนิดไม่แน่ชัด เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตอนใต้ ปัจจุบันมีการปลูกกันทั่วไปในเอเชียเขตร้อน

 ประโยชน์ เป็นพืชสมุนไพรและเป็นเครื่องเทศที่สำคัญ ใช้ประกอบอาหารและแต่งกลิ่นอาหารหลายชนิด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขิง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Zingiber officinale Roscoe
ชื่อสกุล
Zingiber
คำระบุชนิด
officinale
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roscoe, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1753-1831)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์