ขนุนนกเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๓๕ ม. ลำต้นตรง ทุกส่วนมียางขาว โคนต้นเป็นพอนต่ำ เปลือกสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามยาวไม่เป็นระเบียบ เปลือกในสีชมพูอ่อน เรือนยอดเป็นพุ่มทรงรีแน่นทึบ กิ่งล่างมักลู่ลง ตามกิ่งมักปรากฏรอยย่นและรอยแผลใบ ยอดและกิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย กิ่งแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่เป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง รูปไข่กลับ กว้าง ๖-๑๒ ซม. ยาว ๑๒-๒๕ ซม. ปลายมนกว้าง โคนสอบ เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๔ เส้น นูนเป็นโครงคล้ายก้างปลาทางด้านล่าง ปลายโค้งขึ้นจรดกันใกล้ขอบใบ แผ่นใบหนาและหยาบ ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีนวล ก้านใบยาว ๒-๓ ซม.
ดอกสีเหลืองอ่อน บานตอนพลบค่ำ กลิ่นหอมเอียน ออกเป็นกระจุกรอบกิ่งเหนือรอยแผลใบ และอยู่ใต้กลุ่มใบ เมื่อดอกบานเต็มที่ดูคล้ายกับกลุ่มช่อดอกรูปทรงกระบอกบนกิ่งใต้กลุ่มใบ ก้านดอกยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนประปราย กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ ยาว ๓-๔ มม. เรียงเป็น ๒ วง วงละ ๓ กลีบ ขอบกลีบวงนอกจรดกัน ส่วนขอบกลีบวงในเกยซ้อนกัน กลีบด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ยาว ๓-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๖ แฉก รูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมน ขอบเกยซ้อนกัน เกสรเพศผู้ ๑๒ อัน ติดอยู่บริเวณโคนแฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวถึง ๒.๕ ซม. โผล่พ้นปากหลอดดอก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ยาว ๒.๕-๓ ซม. ปลายผลมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ ฐานผลมีกลีบเลี้ยงติดทน มี ๑-๒ เมล็ด ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีเนื้อนุ่มหนาหุ้ม
ขนุนนกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบทั่วไปตามชายป่าดิบชื้น และป่ารุ่นหรือป่าใสอ่อน ตามเชิงเขาใกล้ฝั่งทะเล จนถึงพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา และภูมิภาคมาเลเซีย
ไม้ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน แจว พาย เครื่องกลึง รอด ตง พื้น ฯลฯ ยางใช้ทำลูกกอล์ฟ หุ้มสายเคเบิลใต้น้ำ แก่นมีรสหวาน ต้มกินแก้คุดทะราด แก้เสมหะ แก้โลหิตพิการ แก้กำเดา.