กระดูกซึ่งชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๒ ม. แตกกิ่งมาก กิ่งอ่อน ก้านใบประกอบและก้านช่อดอกเป็นสามเหลี่ยมและมีขนยาวสีขาวเป็นมัน
ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว ๒-๖ ซม. หูใบบาง โปร่งแสง กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๐.๘-๒ ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนนุ่มสั้น ใบย่อยรูปรีแคบ ขนาดไล่เลี่ยกันแต่ใบกลางใหญ่กว่าเล็กน้อย กว้าง ๑.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ แผ่นใบบาง ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านล่างมีขนยาวสีขาวเป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ก้านใบย่อยกลางยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ก้านใบย่อยที่เหลือสั้นมาก
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวถึงเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงยาว ๘-๙ มม. โคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น ๔ แฉก มีขนยาวสีขาวเป็นมัน กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. ปลายกลีบแผ่กว้างและหยักเว้าขนาดใหญ่กว่ากลีบที่เหลือทั้งหมด เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก
ฝักแบน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๒-๓ ซม. เป็นข้อระหว่างเมล็ด มี ๓-๕ ข้อ เมื่อแห้งแต่ละข้อจะหลุดออกจากกันมีขนยาวสีขาวเป็นมัน เมล็ดเล็ก สีน้ำตาล รูปไต
กระดูกซึ่งชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามที่โล่งในป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลประมาณเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย