คอแลนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๖ ม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลถึงสีเทา มีช่องอากาศ ส่วนที่แก่แตกเป็นสะเก็ดขนาดใหญ่
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านใบยาวได้ถึง ๔.๕ ซม. แกนกลางใบประกอบยาว ๒-๓ ซม. ใบย่อย ๒-๔(-๖) ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปรี กว้าง ๑.๘-๑๐ ซม. ยาว ๔.๕-๑๘ ซม. ปลายมนถึงแหลมหรือเรียวแหลม โคนแหลมถึงมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ค่อนข้างเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีต่อมบริเวณใกล้โคนใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ปลายเชื่อมกันใกล้ขอบใบ ก้านใบย่อยยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. ไม่มีหูใบ
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือใกล้ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๒ ซม. ช่อดอกที่ออกตามซอกใบตอนบนมักเป็นกระจุก ยาวไม่เกิน ๕ ซม. ช่อดอกตามซอกใบตอนล่างหรือใกล้ยอดมักเป็นช่อเดี่ยวไม่ค่อยแยกแขนง มีขนยาวประปรายแล้วร่วงหลุดไป ใบประดับรูปสามเหลี่ยมถึงรูปใบหอก ยาวได้ถึง ๑.๕ มม. มีขนประปราย ก้านดอกย่อยยาว ๑.๕-๕ มม. ดอกสีขาว สมมาตรตามรัศมี กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก คล้ายกลีบดอก ยาวเท่ากันรูปไข่ถึงรูปกลม กว้าง ๑.๔-๒.๕ มม. ยาว ๑.๖-๒.๘ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับถึงรูปช้อน กว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาวประมาณ ๒ มม.ไม่มีเกล็ด จานฐานดอกรูปวงแหวน เกสรเพศผู้ ๗-๘ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๒.๕ มม. มีขนยาวประปราย อับเรณูยาว ๐.๖-๐.๙ มม. เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนยาวประปรายมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู
ผลแบบผลแห้งแตก แต่มักจะไม่แตกหรืออาจแตกกลางพู ผลเป็นพู ๒ พู แต่เจริญเพียง ๑ พู รูปทรงกลมถึงทรงรี กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๘ ซม. สีเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีส้มถึงสีชมพู ผิวเป็นปุ่มหรือมีหนามสั้นหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง ก้านผลไม่พองถึงพองเล็กน้อย กว้าง ๑.๕-๒.๕(-๓.๕) มม. เมล็ด ๑ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่ม สีเหลือง กินได้ รสหวาน
คอแลนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่พม่า มาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว.