ขนหนอน

Bridelia tomentosa Blume

ชื่ออื่น ๆ
กระบือ, สีฟันกระบือ (พิษณุโลก); กือนุง (มลายู-นราธิวาส); มะแก (ชลบุรี); โล่โก๊ะ (ส่วย-สุรินทร์); สะเ
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน รูปรีแคบหรือรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศร่วมช่อ ผลคล้ายแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกลม สุกสีดำ มี ๒ เมล็ด

ขนหนอนเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๖-๒๐ ม. เปลือกเรียบ สีเทาอ่อน กิ่งก้านเล็ก มีขน ใบอ่อนสีน้ำตาลอมชมพู

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน รูปรีแคบ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายและโคนมนหรือแหลม ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น แผ่นใบด้านล่างสีนวล ก้านใบยาว ๓-๖ มม.

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ดอกเล็ก กลม มีกลิ่นหอม ออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศผู้เล็กมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ รูปกลม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ขอบกลีบหยัก เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูกลม เกสรเพศเมียฝ่อ รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม มีสันตามยาว ๕ สัน ดอกเพศเมียมีกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑.๒-๑.๕ มม. ติดทน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปรี ขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒ อัน ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลม ปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลคล้ายแบบผลผนังชั้นในแข็ง กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. ผลสุกสีดำ มี ๒ เมล็ด

 ขนหนอนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าดิบ ป่าเบญจ-พรรณ ป่าผลัดใบ และป่าละเมาะ ในตมหรือดินปนหิน ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียจนถึงภาคใต้ของจีน ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย

 ส่วนต่าง ๆ ของขนหนอนมีสรรพคุณเป็นยา น้ำต้มรากเป็นยาบำรุงร่างกายสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร น้ำต้มเปลือกต้นกินแก้ปวดท้องและใช้ย้อมฝาด (Burkill, 1966).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขนหนอน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bridelia tomentosa Blume
ชื่อสกุล
Bridelia
คำระบุชนิด
tomentosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
กระบือ, สีฟันกระบือ (พิษณุโลก); กือนุง (มลายู-นราธิวาส); มะแก (ชลบุรี); โล่โก๊ะ (ส่วย-สุรินทร์); สะเ
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์