ข้าวสารหักเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ขนาดเล็กถึงเล็กมาก เป็นพืชกินแมลง ส่วนคล้ายรากมีประมาณ ๖ เส้น รูปคล้ายเส้นด้าย มักยาวไม่เกิน ๑ ซม. ปลายเรียวเล็กมีถุงขนาดเล็กดักแมลงกระจายอยู่ทั่วไป มีไหลรูปคล้ายหลอด ยาวหลายเซนติเมตร และแตกแขนงมาก
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบแคบ กว้างได้ถึง ๑ มม. ยาว ๑-๒ ซม. ปลายเกือบแหลม โคนสอบเรียว มีเส้นกลางใบ ๑ เส้น ก้านใบสั้นมากหรือเห็นไม่ชัด มีถุงดักแมลงรูปไข่จำนวนมากอยู่บนไหลและใบ ถุงยาว ๐.๒-๐.๗ มม. มีก้าน ปากถุงมีรยางค์รูปลิ่มแคบ ๒ อัน แต่ละอันแตกกิ่งก้านเล็กน้อย
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ไม่แตกกิ่งหรืออาจแตกบ้างตอนบน ยาว ๑-๕ ซม. มี ๑-๒๕ ดอกหรือมากกว่า แกนกลางช่อคดไปมาหรืออาจตรง ก้านช่อเป็นเส้น โดยทั่วไปตอนปลายมักเกลี้ยงโคนมีปุ่มเล็กหรือมีขนสากสั้นมาก มีเกล็ดคล้ายใบประดับแต่แคบและแหลมกว่าใบประดับ บางครั้งมีขนครุยใบประดับรูปกลมหรือรูปรี ยาว ๑-๒ มม. ด้านในมีต่อมไม่มีใบประดับย่อย ก้านดอกชูขึ้นเป็นหลอด ยาว ๐.๒-๑ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กว้างถึงรูปวงกลม ปลายมนกลมหรือเกือบตัด ยาว ๑-๑.๕ มม. มีเส้นกลีบเห็นชัดกลีบดอกสีเหลืองหรือสีขาว ยาว ๐.๕-๑ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก ซีกบนรูปไข่กว้าง ปลายมน ซีกล่างรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดถึงรูปลิ่ม ปลายจักลึกเป็น ๓ หยัก โคนป่องออกเป็นพู ๒ พู กลีบดุ้ง มีขนสั้นนุ่ม มีเดือยรูปลิ่มแคบ ปลายแหลมมน หรือจักเป็นซี่สั้น ๆ ๒-๔ ซี่ เกสรเพศผู้ ๒ เกสร ติดภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลมมี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ไม่เท่ากัน
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ มม. ผนังบาง เมล็ดรูปไข่กลับ
ข้าวสารหักมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามลานหินที่ลาดลงสู่ลำธาร (ผลาญหิน) ในช่วงฤดูฝนหรือตามที่ชื้นแฉะที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบได้ทั่วไปในประเทศเขตร้อน.