ขน-หญ้า

Brachiaria mutica (Forssk.) Stapf

ไม้ล้มลุกหลายปี ใบเรียงสลับ รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกย่อยรูปไข่หรือรูปรี ออกเป็นคู่ ดอกย่อยมี ๒ ดอก ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด ส่วนใหญ่ไม่สมบูรณ์

หญ้าขนเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นทอดนอน ยาวได้ถึง ๖ ม. และปลายชูสูงขึ้นได้ถึง ๒ ม. แตกกิ่งและออกรากบริเวณโคนต้น ปล้องเรียบ ข้อป่อง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบกว้าง ๐.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบมีขนสาก ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขน กาบใบมีขนและมีมากที่รอบข้อ ขอบกาบมีขนโคนเป็นปุ่ม ลิ้นใบเป็นเยื่อสั้นที่ปลายเป็นแถบขน ขนยาวประมาณ ๑.๕ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๖๐ ซม. มีช่อแขนง ๘-๒๐ ช่อ ออกเรียงสลับบนแกนกลางช่อดอก ช่อดอกย่อยออกเป็นคู่ มีก้านยาวไม่เท่ากัน ยาว ๐.๖-๒ มม. ที่ก้านมีขนยาวสีขาว ๓-๔ เส้น ช่อดอกย่อยรูปไข่หรือรูปรี ยาว ๓-๓.๕ มม. กาบล่างรูปไข่ ยาว ๑ ใน ๓ ของความยาวของช่อดอกย่อย เนื้อบางมีเส้นตามยาว ๑ เส้น กาบบนรูปไข่กลับ หรือรูปรี กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. ปลายแหลมสีม่วง มีเส้นตามยาว ๕ เส้น ดอกย่อยมี ๒ ดอก ดอกล่างเป็นดอกเพศผู้ กาบรูปไข่ กาบล่างกว้าง ๑-๑.๓ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. มีเส้นตามยาว ๕ เส้น กาบบนกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เนื้อบาง ขอบ ๒ ข้างพับหุ้มตัวดอก กลีบเกล็ด ๒ อัน เกสรเพศผู้ ๓ อัน ดอกบนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กาบรูปรี ปลายมน เนื้อหนา กาบล่างยาวประมาณ ๒.๔ มม. สีน้ำตาลอมเหลือง ขอบพับเข้า กาบบนคล้ายกาบล่าง กลีบเกล็ด ๒ อัน เกสรเพศผู้ ๓ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ เส้น ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่มเป็นพู่ สีม่วงเข้ม

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปรี ส่วนใหญ่มักไม่สมบูรณ์

 หญ้าขนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค เป็นวัชพืชขึ้นตามที่ลุ่มชื้นแฉะทั้งในสภาพน้ำจืดและน้ำกร่อย แต่ก็สามารถเติบโตได้ดีในที่ดอนด้วย ออกดอกมากตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ในต่างประเทศพบในเขตร้อนชื้นและกึ่งร้อน ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขน-หญ้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Brachiaria mutica (Forssk.) Stapf
ชื่อสกุล
Brachiaria
คำระบุชนิด
mutica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Forsskål, Pehr (Peter)
- Stapf, Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Forsskål, Pehr (Peter) (1732-1763)
- Stapf, Otto (1857-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา และนางชุมศรี ชัยอนันต์