กระดูกค่างชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. แต่เมื่อขึ้นบนโขดหินริมทะเลจะมีขนาดเล็ก เปลือกสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งอ่อนค่อนข้างแบนเป็นสี่เหลี่ยม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๒.๔-๗.๒ ซม. ยาว ๖-๑๓ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบขอบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวอมเหลืองหรือเขียวเข้มด้านล่างสีจางกว่า เส้นแขนงใบเรียงกันห่าง ๆ ข้างละ ๓-๔ เส้น เส้นใบเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๔-๖ มม. มีหูใบระหว่างก้านใบ ๑ คู่ รูปสามเหลี่ยม
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาว ๑-๒.๕ ซม. ดอกเล็ก มีจำนวนมาก กลิ่นหอมเอียน ก้านดอกยาว ๕-๙ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันเป็นรูประฆังขนาดเล็กมาก กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมเขียว ติดกันเป็นหลอดยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ภายในหลอดกลีบดอกมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๕ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยก เป็น ๒ แฉก ยื่นพ้นหลอดกลีบดอก
ผลแบบผลมีเนื้อ ออกเป็นช่อสั้น ๆ มีหลายผล แต่ละผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๙ มม. สีเขียวเข้ม เมื่อสุกสีดำ มีเมล็ดแข็ง ๒ เมล็ด
กระดูกค่างชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบหรือป่าชายหาด บนภูเขาหินปูนและหินแกรนิตใกล้ทะเล ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย
ในมาเลเซียใช้รากของกระดูกค่างบำบัดอาการโรคท้องร่วง (Burkill, 1935)