ชมพูฮาวายเป็นไม้พุ่มกึ่งเถาเลื้อยหรือกึ่งรอเลื้อย ยาวได้ถึง ๒๐ ม. กิ่งอ่อนมีสันเป็นสี่เหลี่ยมกิ่งแก่เป็นรูปทรงกระบอกแคบ ตามข้อมีขนละเอียดเปลือกเรียบ อาจมีเกล็ดขนาดเล็ก
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้าม ก้านใบยาว ๒-๘ ซม. ด้านบนมักเป็นร่องแคบ ๆ ใกล้โคนโป่งบวมเล็กน้อย แกนกลางยาว ๗-๒๐ ซม. ด้านบนมักเป็นร่องแคบ ๆ มีใบย่อย ๗-๙ ใบ รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๑.๖-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๕.๗ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม มักเบี้ยวขอบเรียบ หยักถี่หรือหยักมน เกลี้ยง ด้านล่างมีต่อมเป็นจุดขนาดเล็ก เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบย่อยยาว ๒-๗ มม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งแกนและก้านดอกเกลี้ยง ใบประดับรูปลิ่มแคบกลีบเลี้ยงรูประฆัง โคนเชื่อมติดกัน สีขาวอมชมพูอ่อน ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม มีเส้นกลางแฉก ๑ เส้น จากในหลอดกลีบยาวไปจดปลายติ่งมีขนครุยสั้น กลีบดอกรูประฆัง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูปทรงกระบอก สีชมพูอ่อนอมเหลืองอ่อน ปากหลอดสีชมพูเข้มโดดเด่น ตามแนวยาวของหลอดกลีบดอกมีเส้นสีชมพูเข้มหลายเส้น โคนหลอดแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนคอดอยู่ที่โคน กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาว ๑.๒-๑.๖ ซม. ส่วนที่เหนือขึ้นไปผายออก กว้างประมาณ ๑.๘ ซม. ยาว ๒.๗-๓ ซม. ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปปากเปิด แฉกโค้งเป็นคลื่นและผายออก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก รูปเกือบกลม กว้าง ๑.๗-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๑.๘ ซม. ปลายมน ขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๔ เกสร มี ๒ คู่ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนล่างเชื่อมติดกับด้านในของโคนหลอดกลีบดอกส่วนที่คอด ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ส่วนบนแยกออกเป็นอิสระ ของคู่สั้นยาวประมาณ ๑.๖ ซม. ของคู่ยาวยาวประมาณ ๒ ซม. อับเรณูมี ๒ พู แต่ละพูกว้างประมาณ ๑.๒ มม. ยาว ๒.๕-๓ มม. สีเหลืองอ่อน กางถ่างออก เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๑ เกสร เป็นหมันและลดรูป รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปกรวยแคบหรือรูปคล้ายทรงกระบอก กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๖-๘ มม. เกลี้ยง สีเขียวอ่อน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก เรียงเป็น ๘ แถว ก้าน ยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวคล้ายเส้นด้าย
ผลแบบผลแห้งแตก รูปแถบค่อนข้างแบน ยาว ๒๐-๔๐ ซม. ผลแก่มีกลีบเลี้ยงติดทนหุ้มที่โคน เมล็ดจำนวนมาก มีปีก
ชมพูฮาวายเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับ ออกดอกเกือบตลอดปี มักไม่พบการติดผลในประเทศไทย.