จะไค้ดอยเป็นไม้ต้น สูง ๑๒-๓๐ ม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมแดง มีช่องอากาศ กิ่งแขนงเกลี้ยงมีเกล็ดหุ้มตายอด
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปใบหอก กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๗-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวล เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่างเส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๔ เส้น ปลายโค้งจดกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๒.๕ ซม. เกลี้ยง
ดอกแยกเพศต่างต้น สีเหลืองอ่อนหรือสีขาวนวล ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกเป็นกระจุกตามซอกใบตามกิ่งแขนง หรือตามปลายกิ่ง ช่อดอกตูมรูปทรงกลมคล้ายดอกเดี่ยว เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลางช่อ ๐.๗-๑ ซม. ก้านช่อดอกสั้นมาก มีใบประดับ ๔-๕ ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือเรียงซ้อนเหลื่อมหุ้มช่อดอกตูม รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กว้าง งุ้มเข้าด้านใน กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๕ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ขอบเป็นชายครุย กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ปลายแยกเป็น ๖ แฉก เรียง ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปรี ขนาดเกือบเท่ากันบางคล้ายเยื่อ มีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกเพศผู้มี ๔-๗ ดอก ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. มีขนสั้นนุ่ม แฉกกลีบรวมกว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๓.๕-๔ มม. เกสรเพศผู้ ๙-๑๒ เกสร ยาวไม่เท่ากัน เรียง ๓-๔ ชั้น ชั้นละ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๔-๖ มม. มีขน โคนมีต่อม ๒ ต่อม หรืออาจไม่มี อับเรณูยาว ๑.๕-๒ มม. เป็นช่องมีฝาเปิด ๔ ช่อง ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียมี
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปทรงกระบอก กว้าง ๑.๑-๑.๔ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๘ ซม. สีเขียว มีจุดประสีขาว สุกสีม่วงเข้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ เกลี้ยง เป็นมัน วงกลีบรวมติดทนและขยายใหญ่เป็นรูปถ้วย เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. สูง ๕-๘ มม. มีขนสั้นนุ่มประปราย ก้านผลขยายใหญ่ยาว ๐.๓-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มประปราย เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
จะไค้ดอยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๒,๕๕๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงกันยายน เป็นผลเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย.