คอแลน ๑

Nephelium hypoleucum Kurz

ชื่ออื่น ๆ
กะเบน, คอรั้ง, สังเครียดขอน (ใต้); คอแลนตัวผู้, ลิ้นจี่ป่า (ตะวันออกเฉียงใต้); มะแงว, ไม้ขาวลาง, หมักงาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ); มะแงะ, หมักแวว (ตะวันออก, กลาง)
ไม้ต้น เปลือกเรียบ กิ่งอ่อนมีขนประปรายหรือค่อนข้างเกลี้ยง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่เรียงสลับ มีใบย่อย ๒-๘(-๑๐) ใบ รูปใบหอกหรือรูปไข่ แผ่นใบด้านล่างมีตุ่มใบและมีขนคล้ายไหม ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอดและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาว สีเหลืองอ่อน หรือสีเขียวอ่อนกลิ่นหอม ผลคล้ายผลแห้งแตก รูปทรงรี สุกสีแดง ผิวเป็นปุ่ม เมล็ด ๑ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่ม สีขาวกินได้

  คอแลนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. พบน้อย มากที่เป็นไม้พุ่ม เปลือกเรียบ กิ่งอ่อนมีขนประปรายหรือค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านใบ ยาว ๓-๑๖ ซม. ด้านบนเป็นร่อง ไม่มีหูใบ มีใบย่อย ๒-๘(-๑๐)ใบ เรียงสลับ รูปใบหอกหรือรูปไข่ กว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๖.๕-๓๐ ซม. ปลายมนกว้างถึงแหลม โคนมนถึงแหลม ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบแข็งกระด้างด้านล่างมีตุ่มใบและมีขนคล้ายไหม ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดบริเวณโคนเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๒๐ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ปลายเชื่อมกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแหค่อนข้างละเอียด เห็นไม่ชัด ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑.๑ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอดและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๑๕ ซม. โดยมากมักไม่ค่อยแยกแขนงมีขนค่อนข้างยาวประปรายถึงขนอุย ก้านดอกสีน้ำตาล ดอกเล็ก สีขาว สีเหลืองอ่อน หรือสีเขียวอ่อน กลิ่นหอมกลีบเลี้ยงสีเขียวหรือสีน้ำตาล โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก เป็น (๔-)๕(-๖) แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑.๓-๒.๖ มม. ไม่มีกลีบดอกหรือมีกลีบดอกได้ถึง ๖ กลีบ ส่วนมากมัก มีกลีบคล้ายรูปซ้อน ยาว ๑-๒ มม. มีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๗-๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูสีขาว อับเรณูสีเหลืองอ่อน จานฐานดอกรูปวงแหวน สีส้ม เกลี้ยงรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเขียวเข้ม มีขนสีดำ มี ๒(-๔) ช่องแต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก สีเหลืองอ่อน ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู สีเหลืองอ่อน

 ผลคล้ายผลแห้งแตก รูปทรงรี กว้าง ๑.๕-๒.๓ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. แตกที่ปลาย ผลเจริญเพียง ๑ พู สุกสีแดง ผิวเป็นปุ่มรูปพีระมิดหรือรูปแถบปลายแหลม ยาวได้ถึง ๑.๕ มม. เกลี้ยง เปลือกผลหนาคล้ายแผ่นหนัง หนาประมาณ ๐.๕ มม. เมล็ด ๑ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่ม สีขาว กินได้ รสเปรี้ยวถึงหวาน

 คอแลนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คอแลน ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Nephelium hypoleucum Kurz
ชื่อสกุล
Nephelium
คำระบุชนิด
hypoleucum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กะเบน, คอรั้ง, สังเครียดขอน (ใต้); คอแลนตัวผู้, ลิ้นจี่ป่า (ตะวันออกเฉียงใต้); มะแงว, ไม้ขาวลาง, หมักงาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ); มะแงะ, หมักแวว (ตะวันออก, กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา