ขนนกยูงเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๓-๑๐ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก อัดแน่นรวมเป็นกระจุกตรงโคนต้น คู่ใบที่ยอดขนาดเล็กกว่าคู่ใบที่โคนมากและติดห่างกันจนเห็นปล้องชัด ใบรูปรี รูปขอบขนานถึงรูปแถบ กว้าง ๒.๕-๘ มม. ยาว ๐.๔-๒ ซม. ปลายแหลม โคนเชื่อมเป็นหลอดสั้นมาก ขอบเรียบ ใส แผ่นใบคล้ายกระดาษ เห็นเส้นกลางใบชัดเจนเพียงเส้นเดียว ไม่มีก้านใบ
ดอกเดี่ยว ออกที่ปลายยอด สีฟ้าอ่อน ก้านดอกยาว ๐.๘-๒ ซม. กลีบเลี้ยงบางเป็นเยื่อ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๕-๗ มม. ปลายแยก ๕ แฉก แฉกรูปสามเหลี่ยมยาว ๐.๒-๓ มม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปแตร ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๒-๓ มม. ระหว่างแฉกใหญ่มีแฉกรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ปลายแหลมหรือมน เกสรเพศผู้ ๕ อัน ขนาดเท่ากัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอกสลับกับแฉกกลีบดอก อับเรณูยาว ๒-๓ มม. ก้านชูอับเรณูยาว ๓-๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ก้านสั้น มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ปลายมน
ผลแบบผลแห้งแตก ขนาดเล็ก รูปไข่กลับ ยาว ๒-๔ มม. ก้านผลยาวประมาณ ๑.๑ ซม. มีเมล็ดจำนวนมาก
ขนนกยูงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบบนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๑๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่จีน เวียดนาม และลาว
ทั้งต้นใช้เป็นสมุนไพร.