กระดูกค่างชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกสีดำ ค่อนข้างเรียบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง ๓-๗.๕ ซม. ยาว ๑๒-๑๘ ซม. ปลายทู่หรือหยักคอดเป็นติ่งแหลม โคนสอบมน แผ่นใบหนาหรือค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ปลายโค้งขึ้นเงียบขอบใบด้านบนเส้นเป็นร่อง ด้านล่างนูน เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกเพศผู้ออกรวมกันเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔-๕ กลีบ กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง มีขนสากแน่นทางด้านนอก และมีขนค่อนข้างยาวทางด้านใน กลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ส่วนที่แยกเป็นแฉกยาวไล่เลี่ยกับส่วนที่ติดกัน ด้านนอกมีขนค่อนข้างยาวด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๑๒-๑๘ อัน มีขนยาวแซมแน่น รังไข่ไม่สมบูรณ์มีขนประปราย ดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยวลักษณะคล้ายดอกเพศผู้แต่ใหญ่กว่า ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔-๕ กลีบ เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๔-๘ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๘ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. ฐานผลมน ปลายมนหรือบ้าน ผลอ่อนมีขนมากและสาก แก่จัดขนจะน้อยลง เปลือกแห้งแข็งเหมือนไม้ ผลติดอยู่บนกลีบเลี้ยงรูปถ้วย กลีบเลี้ยงเมื่อยังอ่อนมีขนคล้ายไหมทั้งด้านนอกและด้านใน ขนด้านในจะติดอยู่จนกระทั่งผลแก่ปลายกลีบเลี้ยงโค้งออก พื้นกลับไม่จีบและไม่มีเส้นลายกลีบ
กระดูกค่างชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และมีมากทางภาคใต้ขึ้นตามป่าดิบหรือป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐-๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและมาเลเซีย
เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างทั่วไปและใช้ทำเครื่องตกแต่งบ้าน