ตะพิดเขาเป็นไม้ล้มลุก ส่วนที่อยู่เหนือดินสูง ๑๐-๒๐ ซม. ลำต้นใต้ดินเป็นหัว รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม.
ใบเดี่ยว มี ๒-๔ ใบ รูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กว้าง ๐.๗-๓.๕ ซม. ยาว ๑-๗ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ รูปติ่งหู หรือรูปเงี่ยงใบหอก ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือเป็น ๓ แฉก แฉกกลางรูปแถบ กว้าง ๑-๗ มม. ยาว ๔-๗ ซม. ปลายเรียวแหลม ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย แฉกข้างกว้างเท่ากับหรือยาวน้อยกว่าแฉกกลาง เส้นแขนงใบของแฉกกลางข้างละ ๔-๗ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๕-๑๔ ซม.
ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกจากหัวชูเหนือดิน มี ๑ ช่อ กาบช่อดอกยาว ๔-๕ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ส่วนโคนม้วนเป็นหลอดทรงรูปไข่ ยาว ๑-๒ ซม. แผ่นกาบช่อดอกรูปไข่หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว ๓-๑๔ ซม. เรียวแคบไปสู่ส่วนบนเป็นรูปเส้นด้ายแกมรูปแถบ ระหว่างส่วนโคนกับแผ่นกาบช่อดอกมีรอยคอด ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๗ ซม. ช่อดอกยาว ๔.๕-๒๐ ซม. ยาวกว่ากาบช่อดอกเล็กน้อยหรือยาวกว่าเห็นชัด ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ส่วนบนสุดมีรยางค์รูปเส้นด้าย ยาว ๓.๕-๑๘ ซม. ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศผู้ กว้าง ๑-๒.๕ มม. ยาวได้ถึง ๕ มม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ เกสรเพศผู้ ๑-๓ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ตามด้วยช่วงดอกที่เป็นหมัน ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มี ๒ ส่วน ส่วนบนไม่มีดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน เรียบ ส่วนล่างมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ รูปคล้ายกระบอง ยาว ๒-๕ มม. ส่วนโคนช่อดอกเป็นช่วงดอกเพศเมีย ยาวประมาณ ๒ มม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๓ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียรูปครึ่งทรงกลมแกมรูปคล้ายจาน
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ สุกสีแดง เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม
ตะพิดเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามพื้นที่เปิดโล่งตามลานหิน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.