ชมพู่อักษร

Syzygium aksorniae Chantar. et J. Parn.

ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน เส้นขอบในข้างละ ๒ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกสีขาว ฐานดอกรูปถ้วย ปลายผายคล้ายปากแตรแคบ มีสันตามยาว เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด

ชมพู่อักษรเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๘ ม. กิ่งเรียวเป็นสี่เหลี่ยม มีครีบเป็นคลื่น เปลือกสีน้ำตาลอ่อน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๗-๑๐.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนกลมขอบเรียบ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๓ เส้น เส้นขอบในข้างละ ๒ เส้น ก้านใบยาว ๒-๓.๕ มม. เป็นลอนตามขวาง

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ยาว ๑.๕-๔.๕ ซม. แต่ละช่อมีดอก ๔-๑๕ ดอก ก้านช่อยาว ๑-๓.๗ ซม. เป็นเหลี่ยมและมีครีบใบประดับที่โคนก้านช่อรูปใบหอกหรือรูปสามเหลี่ยมกว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๔.๕ มม. ใบประดับที่อยู่เหนือขึ้นไปรูปรีหรือรูปสามเหลี่ยมกว้าง ๓-๓.๗ มม. ยาว ๒.๘-๕ มม. ก้านดอกสั้นมาก ดอกสีขาว ฐานดอกรูปถ้วย ปลายผายคล้ายปากแตรแคบ ยาว ๕.๕-๖ มม. มีสันตามยาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับฐานดอก ปลายแยกเป็น ๔-๖ แฉก แต่ละแฉกรูปรี ยาว ๑-๓ มม. ค่อนข้างบาง มีต่อม ๕-๑๐ ต่อม กลีบดอก ๔-๖ กลีบ สีขาว แยกกันเป็นอิสระรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๗-๒.๖ มม. มีต่อม ๑๖-๑๙ ต่อม เกสรเพศผู้จำนวนมาก แยกกันเป็นอิสระ เกสรรอบนอกยาวกว่ารอบใน อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปรี ยาวประมาณ ๐.๒ มม. ก้านชูอับเรณูเรียว สีขาว รอบนอกยาว ๗-๗.๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑๑-๑๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๘.๕-๙ มม. ยื่นเหนือกลุ่มเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด

 ชมพู่อักษรเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามริมลำธารในป่าดิบที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๒๐๐ ม.

 ชื่อพรรณไม้ชนิดนี่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.อักษร ศรีเปล่ง อาจารย์ด้านพฤกษศาสตร์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพู่อักษร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Syzygium aksorniae Chantar. et J. Parn.
ชื่อสกุล
Syzygium
คำระบุชนิด
aksorniae
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Chantaranothai, Pranom
- Parnell, John Adrian Naicker
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Chantaranothai, Pranom (1955-)
- Parnell, John Adrian Naicker (1954-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย