จะไค้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. กิ่งแขนงมีขนประปรายหรือเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๙-๑๖ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือเบี้ยว ขอบเรียบแผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เมื่อแห้งสีดำ เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นหรือแบนทางด้านบน ด้านล่างเป็นสันนูน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๔ เส้น โค้งจดกันหรือเกือบจดกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. มีขนประปรายหรือเกลี้ยง
ดอกแยกเพศต่างต้น สีเหลืองอ่อน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม เรียงสลับตามกิ่งแขนงที่สั้นคล้ายช่อกระจะ ยาว ๒.๕-๑๐ ซม. อาจออกเป็นช่อเดี่ยวตามซอกใบ ตามกิ่งหรือปลายกิ่ง ช่อดอกตูมรูปกลม คล้ายดอกเดี่ยว เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลางช่อ ๕-๗ มม. แต่ละช่อมีดอก ๕-๖ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๓-๘ มม. มีขนประปราย มีใบประดับ ๔ ใบ เรียงซ้อนเหลื่อมหุ้มช่อดอกตูม รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กว้าง งุ้มเข้าด้านใน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๓-๕ มม. ด้านนอกมีขนประปราย ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ มม. มีขนประปราย กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกเป็น ๖ แฉก เรียง ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ แฉก ขนาดเกือบเท่ากัน แต่ละแฉกรูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี บางคล้ายเยื่อ ดอกเพศผู้มีแฉกกลีบรวมกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. เกสรเพศผู้ ๙-๑๒ เกสร ยาวไม่เท่ากัน เรียง ๓-๔ ชั้น ชั้นละ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๒.๕-๖ มม. เกลี้ยง โคนมีต่อม ๒ ต่อม หรือไม่มี อับเรณูยาว ๑-๑.๕ มม. เป็นช่องมีฝาเปิด ๔ ช่อง เกสรเพศเมียเป็นหมัน ยาว
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. สีเขียว มีจุดประสีขาว เกลี้ยง วงกลีบรวมติดทนและขยายใหญ่เป็นรูปถ้วยเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๒-๑.๗ ซม. สูง ๕-๘ มม. เกือบเกลี้ยง ก้านผลขยายใหญ่และค่อนข้างหนา ยาว ๐.๖-๑ ซม. เกือบเกลี้ยง มี ๑ เมล็ด
จะไค้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมเป็นผลเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.