จะค้านชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ลำต้นมีข้อโป่งพอง มีรากแตกออกตามข้อ ยอดอ่อนเกลี้ยงหรือมีขนประปราย
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปรี สมมาตรหรือไม่สมมาตร กว้าง ๔-๑๐ ซม. ยาว ๑๓-๑๙ ซม. ปลายแหลม พบน้อยที่ปลายเรียวแหลมโคนเบี้ยวหรือเว้ารูปหัวใจ ขอบเป็นคลื่น ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน มีนวลและมีขนประปรายมีกลิ่นหอมเมื่อขยี้ เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๕ เส้น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังและแข็ง หูใบหุ้มยอดอ่อนรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกคล้ายรูปคุ่ม ร่วงง่ายก้านใบยาว ๑-๒ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลดรูปทรงกระบอก ออกตามปลายยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ห้อยลง มีดอกอัดกันแน่นอยู่ในช่อ ช่อดอกสีเขียวอ่อน แกนกลางช่อมีขน ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลืองไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ใบประดับรูปค่อนข้างกลมแบบก้นปิด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. ขอบเรียบ ก้านใบประดับยาวประมาณ ๐.๒ มม. ช่อดอกเพศผู้กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๔ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๓-๕ เกสร ก้านเกสรเพศผู้ยาว ๐.๑-๐.๒ มม. อับเรณูยาว ๐.๓-๐.๔ มม. ช่อดอกเพศเมียกว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๓-๖ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไม่มี ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกรูปดาว ๔-๕ แฉก มีขน
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง เชื่อมติดกันบางส่วนหรือเชื่อมติดกันทั้งหมดอยู่ในช่อผลรูปทรงกระบอกกว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๕-๑๑ ซม. สีเขียวเป็นมัน ช่อห้อยลง เกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามร่อง ก้านช่อผลยาว ๒-๔ ซม. แต่ละผลรูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. ปลายมนหรือตัด มียอดเกสรเพศเมียและใบประดับติดทน สุกสีม่วงเข้มหรือดำ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
จะค้านชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามป่าดิบเขา บริเวณใกล้ยอดเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๒,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมกราคม เป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม.