ค้อนหมาขาวเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. ลำต้นเดี่ยวหรือแตกแขนง ผิวเรียบ เห็นข้อปล้องชัดเจน
ใบเดี่ยว เรียงเวียนค่อนข้างแน่นบริเวณใกล้ยอด รูปใบดาบหรือรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๑.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๑๘-๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบเป็นกาบหุ้มลำต้น ขอบเรียบ แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบขนาน เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือตาม ซอกใบใกล้ยอด ยาว ๒๐-๕๐ ซม. แต่ละแขนงมีใบประดับคล้ายใบรองรับ แกนช่อดอกเกลี้ยง ดอกสมบูรณ์เพศ ออกเป็นกลุ่มตามแกนช่อ กลุ่มละ ๒-๓ ดอก ก้านดอก ยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบรวมสีขาว สีขาวอมเขียว หรือสีครีม รูปหลอดแคบ ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๖ แฉก รูปแถบ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายแหลม เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบรวม ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย อับเรณูติดไหวได้ ยาว ๒-๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๑.๘-๒.๓ ซม.
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือมี ๒-๓ พู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. สีเขียว สุกสีเหลืองหรือสีส้ม เมล็ดรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. มี ๑-๓ เมล็ด
ค้อนหมาขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบในป่าดิบแล้งหรือป่าดิบเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๖๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน พม่า (รวมถึงหมู่เกาะอันดามัน) จีน ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลียตอนเหนือ
ประโยชน์ ยอดอ่อนรับประทานได้ ในอุบลราชธานีนำไปแกงเช่นเดียวกับแกงหน่อไม้.