ตะพิดกาบแข็งเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีช่วงพักตัว ลำต้นใต้ดินเป็นหัว รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปทรงกลมแป้น
ใบเดี่ยว ออกที่ปลายหัวใต้ดิน มี ๑-๓ ใบ รูปคล้ายมือ เป็นแฉกเว้าลึกเกือบถึงโคนใบ มี ๗-๑๓ แฉก รูปรีถึงรูปใบหอก ปลายแฉกแหลมหรือเรียวแหลม ขอบเว้าเป็นคลื่น เรียบ หรือบางครั้งหยักมน มีเส้นแขนงใบข้างละหลายเส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไป เส้นใบย่อยแบบร่างแห แผ่นใบด้านบนสีเขียวถึงสีเขียวเข้ม เส้นกลางแฉกอาจมีสีแดงเรื่อหรือมีรอยแต้มเป็นจุดสีเหลืองทอง แผ่นใบด้านล่างสีจางกว่าถึงสีเขียวอมเทา อาจมีรอยแต้มเป็นจุดสีม่วงอมแดงกระจาย ก้านใบยาว ๓-๖๐ ซม. สีมีการแปรผัน สีเขียวถึงสีม่วง อาจมีรอยแต้มเป็นลายหรือจุด
ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกจากหัวชูเหนือดิน มี ๑ ช่อ เกิดพร้อมออกใบหรือเกิดก่อนออกใบ กาบช่อดอกส่วนโคนม้วนตามยาวเป็นทรงรูปไข่ บางครั้งเป็นสัน ๑-๓ สัน ด้านนอกสีเขียวอ่อน สีเขียว หรือสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม อาจมีรอยแต้มเป็นจุดหรือลายสีแดงเรื่อหรือสีน้ำตาลอมดำ ด้านในสีขาวหรือสีเขียวอ่อนอมขาว แผ่นกาบช่อดอกรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ลักษณะคล้ายเรือ กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๖-๑๗ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหาง พบบ่อยที่เส้นกลางแผ่นกาบช่อดอกเป็นสัน ด้านนอกสีเขียวอ่อน สีเขียว หรือสีน้ำตาลอ่อน อาจมีรอยแต้มเป็นจุดเห็นไม่ชัด ด้านในสีขาวหรือสีเขียวอ่อน อาจมีรอยแต้มเป็นจุดสีม่วงอมดำกระจาย ระหว่างส่วนโคนกับแผ่นกาบช่อดอกมีรอยคอด ก้านช่อดอกยาว ๒-๒๐ ซม. ช่อดอกสั้นกว่ากาบช่อดอก ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบรวม ส่วนบนสุดมีรยางค์รูปทรงกระบอก พบน้อยที่เป็นรูปกระสวย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๖ มม. ยาว ๑.๕-๔.๕ ซม. ปลายมน สีขาวนวล พบ
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่กลับถึงรูปทรงรี ผลแก่สีเขียวอ่อน เป็นลูกฟูกหรือเป็นร่องตื้น
ตะพิดกาบแข็งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ทุ่งหญ้า เขาหินแกรนิต และเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย (อัสสัม) เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย และอินโดนีเซีย (สุมาตรา ชวา และหมู่เกาะซุนดาน้อย).