ชมพูสิรินเป็นไม้ล้มลุกหลายฤดู แตกกิ่งใกล้โคนลำต้นได้ถึง ๑๕ กิ่ง แขนงห้อยย้อยลง อวบน้ำและเปราะ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๕-๒๕ ซม. ผิวสีเขียวอ่อนอมสีเทาอ่อน หรืออาจเป็นสีแดง มีนวลอาจมีปุ่มหรือเรียบ เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียนห่างตามต้น คล้ายเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ใบล่างมักหลุดร่วง แผ่นใบมีนวลรูปไข่หรือรูปหัวใจกลับ กว้าง ๒.๘-๓.๕ ซม. ยาว ๓-๔.๔ ซม. ปลายแหลม โคนตัดหรือกึ่งรูปหัวใจขอบจักฟันเลื่อยห่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๖ เส้น ก้านใบยาว ๒-๗.๕ ซม. มีต่อมตรงรอยต่อของก้านใบกับโคนแผ่นใบข้างละ ๑ ต่อม
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งมีหลายดอก สีชมพูอ่อนหรือเข้ม กลีบแผ่เป็นระนาบเดียว กว้างและยาว ๔.๕-๔.๘ ซม. ก้านดอกเรียว ยาว ๓-๖.๕ ซม. เกลี้ยง ใบประดับขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ แยกเป็นกลีบข้าง ๔ กลีบ อยู่เป็น ๒ คู่ คู่นอกสีขาวอมเขียว รูปไข่เบี้ยว กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๖-๗ มม. ปลายแหลม คู่ในสีขาวอมเขียวอ่อน รูปกลมหรือรูปหัวใจ กว้างและยาวประมาณ ๒.๕ มม. กลีบเลี้ยงอีก ๑ กลีบ อยู่ด้านล่าง โคนรูปทรงกระบอกแคบ ยาวประมาณ ๖ ซม. ปลายสอบเรียวเป็นเดือยยาวคล้ายหางชี้ตามแนวก้านดอก สีขาวอมเขียว มีจุดประสีแดงขนาดเล็กประปราย ด้านบนรูปคล้ายเรือ กว้างประมาณ ๐.๙ ซม. ยาว ๑.๔-๑.๖ ซม. ปลายแหลมสีเขียวอ่อน กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบบนแยกเดี่ยว
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างรี กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาว ๑.๘-๓ ซม. ปลายแหลมผลแตกง่าย เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน รูปทรงเกือบกลม มี ๑-๔ เมล็ด
ชมพูสิรินเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวและหายากของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบเฉพาะตามหน้าผาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม
กรมวิชาการเกษตรได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนำมาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของพรรณไม้ชนิดนี่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อไทยว่า ชมพูสิริน เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓.