จะค้านชนิดนี้เป็นไม้เลื้อย ลำต้นมีข้อโป่งพองมีรากออกตามข้อ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๒-๖.๕ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนหรือตัด ใบที่โคนต้นอาจเป็นรูปไข่โคนใบมักเว้ารูปหัวใจและอาจเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบเส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๑ เส้น ออกเหนือโคนใบประมาณ ๑-๑.๕ ซม. อาจออกเยื้องกันหรือออกตรงข้าม ปลายเส้นโค้งไปสู่ปลาย แผ่นใบด้านล่างมีขนคายหรือเกลี้ยง ด้านบนเกลี้ยง เป็นมัน มีจุดโปร่งแสง หูใบแนบติดกับก้านใบ หุ้มตาอ่อน ร่วงง่ายก้านใบยาว ๐.๗-๒ ซม.
ดอกแยกเพศต่างช่อร่วมต้นหรือต่างต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตรงข้ามกับใบ รูปทรงกระบอกดอกเล็ก สีเขียวอมเหลือง ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกช่อดอกเพศผู้กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑.๕-๖ ซม. ช่อตั้งแล้วโค้งลง หรือช่อห้อย ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๒ ซม. มีขนสั้นนุ่ม แกนกลางช่อมีขนประปราย ใบประดับรูปค่อนข้างกลมแบบก้นปิด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. ก้านใบประดับสั้นมากหรือไม่มี ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๓ เกสร อับเรณูรูปไต ช่อดอกเพศเมียกว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๑.๕-๖ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๔.๒ ซม. มีขนสั้นนุ่ม แกนกลางช่อและใบประดับเหมือนกับช่อดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ปลายแหลม มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไม่มี ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกเรียว ๓ แฉก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง เรียงไม่ชิดแน่นอยู่ในช่อผลที่ยาว ๘-๑๕ ซม. แต่ละผลรูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. ปลายผลมีปุ่มเล็ก สุกสีส้มถึงแดง เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
จะค้านชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคกลาง พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ และจีน.