กระดูกไก่ดุมเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑.๕ ม. มักเลื้อยพัน มีขนสั้นนุ่มทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๐.๘-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๓-๓.๘ ซม. ปลายแหลม โคนมน หรือแหลม ขอบโค้ง แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อนและมีนวล เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ปลายเส้น โค้งขึ้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑-๓ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๒ มม.
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกตามง่ามใบ ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงสีขาวอมชมพูหม่นกว้างและยาวประมาณ ๒ มม. เนื้อหนา โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๖ พู เกสรเพศผู้ ๓ อัน โคนเชื่อมติด กันเป็นก้านชูเกสรเพศผู้ยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูมี ๒ ช่อง ยาวประมาณ ๑ มม. ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ยาว ๒-๓ มม. ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยงสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงติดทน ยาวประมาณ ๒ มม. โคนติดกัน ปลายเป็นแฉกกว้างประมาณ ๒ มม. โคนติดกัน ปลายแฉกแหลมเป็นติ่ง ด้านนอกมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูประฆัง กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. ปลายเว้าตื้น มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเล็กมาก แยกเป็น ๓ แฉก โค้งเข้าหากัน
ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๕-๖ มม. สีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง เมื่อแห้งสีน้ำตาลเป็นมันปลายผลมีติ่ง ที่โคนมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ปลายเป็นพยาว ๔-๕ มม. ก้านผลยาว ๒-๓ มม. เมล็ดสีออกส้ม กว้าง ๗-๘ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. หนา ประมาณ ๒ มม.
กระดูกไก่ดุมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าละเมาะ ป่ารุ่น สวนยางพารา บนพื้นที่ตั้งแต่ ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและเกาะสุมาตรา