งวงช้าง

Osmelia maingayi King

ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง โปร่ง ช่อย่อยแบบช่อเชิงลดช่อดอกเพศผู้มักออกที่ยอด ช่อดอกเพศเมียมักออกตามซอกใบ ดอกเล็ก สีชมพูอมเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปเกือบกลมถึงรูปทรงกระบอกสั้น มีสัน ๓ สัน เมื่อสดมีขนสั้นนุ่มสีแดง เมื่อแห้งขนเป็นสีเหลือง เมล็ดรูปทรงรีถึงเกือบกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงหรือสีเหลือง

งวงช้างเป็นไม้ต้น สูง ๕-๒๐ ม. ก้านและกิ่งเรียว มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองหม่น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๔.๕-๘ ซม. ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงค่อนข้างกลม ขอบเรียบหรือค่อนข้างหยักมนถี่ แผ่นใบบาง สีเขียวอ่อน ด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นตามเส้นกลางใบมีขนยาวประปราย ด้านล่างมีขนนุ่มสีเหลืองหรือสีเขียว ติดทน โดยเฉพาะตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ บริเวณอื่นเกือบเกลี้ยงเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น นูนชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห นูนเล็กน้อย ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๘ ซม. มีขนยาวสีน้ำตาลแดงประปราย หูใบรูปใบหอกยาวประมาณ ๑ ซม. ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงโปร่ง ยาว ๗-๔๐ ซม. ช่อย่อยแบบช่อเชิงลด ช่อดอกเพศผู้มักออกที่ยอดและยาวกว่าช่อดอกเพศเมียซึ่งมัก


ออกตามซอกใบ ดอกเล็ก สีชมพูอมเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก พบน้อยที่มี ๕ แฉก รูปเกือบกลม ยาวประมาณ ๑.๒ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๘ เกสร พบน้อยที่มี ๑๐ เกสร เรียงเป็น ๒ แถว ตรงข้ามและสลับกับกลีบเลี้ยง ยื่นยาวโผล่พ้นกลีบเลี้ยง อับเรณูเล็ก รูปกลมแกมรูปไข่ เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๔ เกสร พบน้อยที่มี ๕ เกสร ติดตรงข้ามกับกลีบเลี้ยง ลักษณะเป็นเกล็ดแบน ปลายแยกเป็น ๒ แฉกสีเหลือง มีขน เกสรเพศเมียเป็นหมัน ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น มี ๓ ก้าน ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ แต่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันยาวประมาณครึ่งหนึ่งของดอกเพศผู้ อับเรณูไม่มีเรณู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น สีเหลือง มี ๑ ช่อง ออวุล ๑-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ก้าน แยกกัน สั้น โค้งลง เกลี้ยง แต่ละก้านมียอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก รูปคล้ายไต

 ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปเกือบกลมถึงรูปทรงกระบอกสั้น ปลายและโคนแคบ ยาว ๑.๒-๒ ซม. มีสัน ๓ สัน เปลือกค่อนข้างหนา ผิวย่นเป็นริ้ว ๆ เมื่อสดมีขนสั้นนุ่มสีแดง เมื่อแห้งขนเป็นสีเหลือง เมล็ดรูปทรงรีถึงเกือบกลม ยาว ๗-๘ มม. มี ๑-๔ เมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงหรือสีเหลือง

 งวงช้างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงกรกฎาคมเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
งวงช้าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Osmelia maingayi King
ชื่อสกุล
Osmelia
คำระบุชนิด
maingayi
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1840-1909)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย