ขมหินใบน้อยเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ค่อนข้างอวบน้ำสูง ๓-๒๐ ซม. ลำต้นอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม แตกกิ่งมากปลายกิ่งโค้งขึ้น มักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงเมื่อแก่ มีขนสีขาวหรือสีเทาแนบตามแนวยาวลำต้นหรือกิ่ง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ค่อนข้างชิดกันมากดูเป็นกระจุก รูปไข่กลับหรือรูปรี พบน้อยที่เป็นรูปไข่ คู่ใบมีขนาดต่างกันมาก ใบใหญ่กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๖ มม. ใบเล็กกว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายโค้งกว้างมนหรือแหลม โคนสอบหรือรูปลิ่ม พบน้อยที่มน ขอบเรียบแผ่นใบบาง มีผลึกหินปูนจำนวนมาก ด้านบนสีเขียวเข้มด้านล่างสีเขียวอ่อน มีขนทั้ง ๒ ด้าน โดยเฉพาะทางด้านล่างมีขนสีขาวแนบในแนวขวางกับความยาวของใบ ขนมักหลุดร่วงง่าย เส้นใบเห็นชัดเฉพาะเส้นกลางใบทางด้านล่าง ก้านใบเรียว ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มีขนประปรายหูใบรูปสามเหลี่ยม ติดทน
ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ค่อนข้างชิดกันเป็นกระจุกกลม ออกตามซอกใบช่อยาว ๑-๔ มม. ก้านช่อเห็นไม่ชัด แต่ละช่อมีดอกเพศเมีย ๕-๑๐ ดอก ตามปลายกิ่ง และมีดอกเพศผู้จำนวนน้อยกว่าอยู่ทางโคนช่อ ดอกสีเขียวอ่อน กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดหรือรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๓ แฉก พบน้อยที่มี ๔ แฉก ดอกเพศผู้มีแฉกกลีบรวมขนาดใกล้เคียงกัน แต่ละแฉกยาวประมาณ ๐.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๔ เกสร พบน้อยที่มี ๓ เกสร ติดตรงกับแฉกกลีบรวมยาวประมาณ ๑ มม. ดอกเพศเมียมีโคนกลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๓ แฉก พบน้อยที่มี ๔ แฉก ยาว ๐.๔-๐.๘ มม. ขนาดไม่เท่ากัน มีขนประปรายตามผิวด้านนอกหรืออาจเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มีขนประปราย มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็ก มีขนที่ปลาย
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง สีน้ำตาล มีกลีบเลี้ยงติดทนก้านผลเห็นไม่ชัด เมล็ดเล็กมาก มี ๑ เมล็ด
ขมหินใบน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นในที่ชุ่มชื้นใกล้แหล่งน้ำตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ที่สูงจากระดับทะเลไม่เกิน ๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงตุลาคมในต่างประเทศพบตามเขตร้อนทั่วโลก.