กรดน้ำ

Scoparia dulcis L.

ชื่ออื่น ๆ
กระต่ายจามใหญ่ (กรุงเทพฯ), ขัดมอนเทศ (ตรัง), ต้อไม้ลัด (สิงห์บุรี), เทียนนา (จันทบุรี), ผักปีกแมงวัน
ไม้ล้มลุก ออกเป็นกอ ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ดอกสีขาวคอหลอดดอกมีขนสีขาวแน่น ผลแบบผลแห้ง ค่อนข้างกลม

กรดน้ำเป็นไม้ล้มลุกสองปี ลำต้นตั้งตรง สูง ๓๐-๘๐ ซม. แตกกิ่งมาก

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ขอบจักฟันเลื่อยตรงส่วนใกล้โคนใบ

 ดอกเล็ก ออกเดี่ยวที่ง่ามใบ สีขาว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกม่วงละ ๔ กลีบ คอหลอดดอกมีขนสีขาวหนาแน่นเกสรเพศผู้ ๔ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้ง ค่อนข้างกลม เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก

 กรดน้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกาเขตร้อน ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อนชื้น

 ใบและลำต้นมีสาร amellin ซึ่งในอินเดียใช้แก้โรคเบาหวาน ในฟิลิปปินส์ดื่มน้ำต้มจากรากแก้ไข้และขัดเบา น้ำชงจากใบใช้ดื่มแก้ระบบลำไส้ผิดปรกติ ในมาเลเซียใช้แก้ไอ

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กรดน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Scoparia dulcis L.
ชื่อสกุล
Scoparia
คำระบุชนิด
dulcis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กระต่ายจามใหญ่ (กรุงเทพฯ), ขัดมอนเทศ (ตรัง), ต้อไม้ลัด (สิงห์บุรี), เทียนนา (จันทบุรี), ผักปีกแมงวัน
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา